ปัญหาผู้ลี้ภัยในประเทศไทย จากเวทีเสวนาในหัวข้อ เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัยสู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย เนื่องในสัปดาห์วันผู้ลี้ภัยโลกประจำปี 2561 นางรติรส ศุภาพร ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็ก กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ส่วนมากผู้ลี้ภัยจะอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และยังไม่ได้การยอมรับจากรัฐบาล เช่นพวกที่ลี้ภัยจากปัญหาสงคราม เรื่องของศาสนา และ เรื่องการเมือง ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้รับสวัสดิการ เช่น เรื่องการศึกษา หรือ การรักษาพยาบาล โดยเฉพาะเด็กๆ เนื่องจากมีปัญหาด้านภาษาและกลัวจะถูกจับจากที่ยังไม่ได้การรับรองสถานะ ทำให้พ่อแม่ไม่กล้าให้เด็กไปเรียน และมีโอกาสสูงที่เด็กจะถูกทำร้าย ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้อยู่รัฐภาคีสัญญาของสหประชาชาติในเรื่องผู้ลี้ภัย ดังนั้นผู้ลี้ภัยจึงเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย แม้จะเป็นการหนีสงคราม แต่ไทยไม่ได้รับรองสถานะดังกล่าว ถึง แม้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ(UNSCR) จะยอมรับก็ตาม
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากสม.รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมาโดยตลอด กสม.มีข้อเสนอแนะในกรณีถูกจับกุมควบคุมตัว เคยมีการร้องเรียนว่าผู้ปกครองถูกจับและเด็กก็ถูกคุมขัง เนื่องจากต้องอยู่กับพ่อแม่ และในขณะนี้มีรายงานว่าในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพมหานคร มีการกักเด็กจำนวน 40 คน เล็กสุดคืออายุ 3 เดือน สภาพความเป็นอยู่ภายในนั้นไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับการใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งสร้างไว้เพื่อรอการผลักดันออกไปยังประเทศโลกที่ 3 หรือประเทศต้นทาง แต่บางคนไม่สามารถเดินทางไปได้ เพราะกลัวว่าเกิดอันตราย จึงทำให้ต้องอยู่ในห้องกัก บางคนอยู่มาถึง10 ปีแล้ว โดยมองว่าเด็กเล็กไม่ควรอยู่ในห้องกัก เพราะสภาพแวดล้อมไม่ดี ซึ่งขณะนี้ภาครัฐพยายามทำข้อตกลงเพื่อนำเด็กและครอบครัวออกไปอยู่ข้างนอก ขณะเดียวกันก็พยายามหาทางออกในเรื่องการปกป้องเด็กจากการโดนทำร้าย เพราะมีการล่วงละเมิดทางเพศเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้หญิงหรือผู้ชาย ล้วนสามารถเป็นเหยื่อได้หมด เด็กไม่สามารถบอกเล่าออกมาได้
ขณะที่ นางปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนยากไร้ กล่าวถึง นโยบายการศึกษาว่า ตอนนี้มีเด็กผู้ลี้ภัยมาเรียนจำนวน 100 คน จากจำนวน 2 หมื่นคน หวาดกลัวว่าไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง เพราะมีปัญหาเรื่องภาษาและสถานะ และหลายครอบครัวไม่อยากให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียน เนื่องจาก ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานได้ เพราะใช้เวลาดูแลบุตรหลาน อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูง ส่วนด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีการออกประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าว แต่ในภาคปฏิบัติจริงๆนั้นใช้ได้แค่ 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ โดยรัฐบาลจะต้องหาวิธีให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ไทยไม่ได้รับอนุสัญญาเรื่องผู้ลี้ภัย แต่นโยบายไทย ก็ยังพอมีช่องทางเปิดโอกาสคุ้มครองสิทธิพื้นฐานให้กับผู้ลี้ภัย แต่เมื่อเขาไม่มีสถานะทำให้กลายเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายทันที ซึ่งกฎหมายเดียวที่เจ้าหน้าที่ใช้คือพ.ร.บ.คนเข้าเมือง ดังนั้นเมื่อผูู้ลี้ภัยเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายก็ต้องถูกจับ เมื่อใช้โทษเสร็จแล้ว ก็ต้องถูกส่งไปในที่สตม.เพื่อผลักดันออกประเทศ
ด้านนางกรแก้ว พิเมย ผู้อำนวยการโครงการ Education project (UEP) องค์การเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มาจากหลายเชื้อชาติ ปัญหาคือการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย ซึ่งพบว่าเด็กผู้ลี้ภัยไม่สามารถปรับตัวได้ ทั้งการเรียนรู้ และสังคมที่มีข้อจำกัด ดังนั้นต้องส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้พัฒนาภาษาอังกฤษ แต่ก็ต้องเรียนรู้ภาษาไทยด้วย เพราะไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ในประเทศไทยนานแค่ไหน
ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ