การตรวจทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ตั้งแต่ถนนสุขุมวิท ถึงคลองบางนา เพื่อรับมือกับหน้าฝน นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พร้อมคณะผู้บริหารกทม. ลงพื้นที่ตรวจการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วมบนถนนสุขุมวิท บริเวณคลองบางนา ถึงซอยลาซาล รวมระยะทาง 2 ฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร โดยได้นำรถดูดเลน จำนวน 5 คัน ขนาด 14,000 คิว 3 คัน และ 8,000 คิว 2 คัน พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่อีก 50 คน โดยพื้นที่ดังกล่าวเมื่อฝนตกจะเกิดน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง ซึ่งการทำความสะอาดในวันนี้จะเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้นให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยสำนักการระบายน้ำ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบไปลงคลองบางนาขนาด 10 นิ้ว ทั้ง 2 จุด รวม 4 เครื่องและกรมทางหลวงได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำดีเซลขนาด 24 นิ้ว เพื่อช่วยสูบน้ำไปยังคลองสำโรงอีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กทม.ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 90
ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวจากคลองบางนาถึงซอยแบริ่งจะเร่งขยายขนาดท่อระบายน้ำจากเดิม 0.80 เมตร ให้มีขนาด 1.80 เมตรและก่อสร้างสถานีสูบน้ำขนาดกำลังสูบ 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเมื่อดำเนินแล้วเสร็จจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร รวมถึงถนนสุขุมวิท ตั้งแต่คลองบางนาถึงคลองสำโรง และยังเป็นการแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรบริเวณนี้อีกด้วยหลังการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ได้รื้อย้ายท่อระบายน้ำ และเนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ต่ำ เมื่อมีฝนตกในปริมาณ 60 มิลลิเมตร ไม่เกิน 1 ชั่วโมง จะมีน้ำท่วมขังบนพื้นผิวจราจร เป็นระยะทางประมาณ 1,300 เมตร ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำราว 1 ชั่วโมง
กทม.ร่วมกับแขวงการทางสมุทรปราการ ล้างท่อระบายน้ำทั้งหมดในพื้นที่ และจัดเตรียมรถดูดเลนขนาดใหญ่ 14 คัน ซึ่งแต่ละคัน จุได้14 ลูกบาศก์เมตร และรถขนาดเล็กประจำเขตต่างๆ อีก 50 ตัว ซึ่งปัญหาการระบายน้ำในพื้นที่มี 2 ปัญหา ได้แก่ ฐานตอหม้อสะพานข้ามคลอง ที่ขวางการไหลของน้ำ ทำให้น้ำไหลช้าลง ร้อยละ 50 ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างระบบขนส่งทางรางเสร็จสิ้นแล้ว ทางจ.สมุทรปราการได้ประสานกับแขวงการทางเพื่อดำเนินการทุบเสาตอหม้อทิ้ง คาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจะแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้น้ำไหลได้เป็นปกติ พร้อมทั้งขอการสนับสนุนรัฐบาลในการก่อสร้างและขยายอุโมงค์ระบายน้ำ ที่มีขนาดความกว้าง จากเดิม 0.8 เมตร เป็น 1.8 เมตร ระยะทาง 1,300 เมตร เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวกยิ่งขึ้น ใช้งบประมาณกว่า 280 ล้านบาท คาดว่าใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 1 ปี หากท่อลอดดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้ปัญหาน้ำท่วมขังในบริเวณนี้และโดยรอบได้ดียิ่งขึ้น
ขณะที่สภาพการจราจร ช่วง 15.00 น. บริเวณ ถนนสุขุมวิท ฝั่งขาเข้า การจราจรเริ่มติดขัด บริเวณที่มีการขุดลอกท่อ ส่วนในฝั่งขาออก การจราจรค่อนข้างติดขัดสลับหยุดนิ่ง เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีการก่อสร้างรถไฟฟฟ้าสายสีเขียว
ผู้สื่อข่าว:พนิตา สืบสมุทร