การประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรธ.กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งหมด 253 มาตรา บทเฉพาะกาล 17 มาตรา รวม 270 มาตรา ส่วนในบทเฉพาะกาล ได้กำหนดให้องค์กรที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะรัฐมนตรี(ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังจากมีการเลือกตั้ง
ขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่ง สนช. หรือ คณะรัฐมนตรี หากจะลงรับสมัครเลือกตั้งต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกในองค์กรดังกล่าว ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ยังมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท. )ทำหน้าที่ต่อไปอีก 1 ปี ภายหลังประกาศใช้เพื่อเร่งการสานต่องานปฏิรูปประเทศ ส่วน กรธ. ยังคงทำหน้าที่ไปจนกว่า สนช.จะพิจารณากฎหมายลูกแล้วเสร็จ 10 ฉบับ และต้องร่างให้เสร็จภายใน 8 เดือน
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังคงพิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา และในบางประเด็นที่กรรมการเห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของถ้อยคำและความเชื่อมโยงในแต่ละมาตราให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยได้พิจารณาตั้งแต่หมวด 12 องค์กรอิสระ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน กำหนดให้ มี 3 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี เป็นได้วาระเดียว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จะมีอำนาจหน้าที่ในการไต่ส่วนและให้ความเห็นกรณีทุจริต และประพฤติผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนข้าราชการประจำ ป.ป.ช.จะพิจารณาเฉพาะเรื่องการทุจริตเท่านั้น
ส่วนการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หากไม่เสร็จสามารถต่อได้ 4 เดือน ส่วนอัยการได้มีการเพิ่มข้อความว่าการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการ ไม่ถือเป็นคำสั่งทางการปกครอง หมวด 13 องค์กรอัยการ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นั้นมี 3 วาระ และต้องทำโดยเปิดเผย เน้นให้ทุกพรรค หรือทั้งสองสภาต้องให้ความเห็นชอบร่วมกัน
ผู้สื่อข่าว: ปิยะธิดา เพชรดี