การติดตามความก้าวหน้าการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ ของนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ที่มาลงพื้นที่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วงบ่ายวันนี้มาติดตามความคืบหน้าการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในเขตพื้นที่ของตำบลคุ้มเก่า ในอำเภอเขาวง ของจังหวัดกาฬสินธุ์
นายณัฐธันยา เครือสวัสดิ์ เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่นำเกษตรทฤษฏีใหม่มาขยายผล เล่าให้ฟังว่า ส่วนตัวจบมาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศทางธุรกิจ ปัจจุบันมีอาชีพทำนา และปลูกเกษตรแบบผสมผสานด้วย ซึ่งสาเหตุที่กลับมาทำเกษตรเพื่อต้องการมาช่วยพ่อแม่ที่บ้านและอยากให้ครอบครัวอยู่ด้วยกันครบ เมื่อกลับมาก็ได้นำความรู้ทางเทคโนโลยีที่เรียนมา นำมาปรับใช้พัฒนาด้านการเกษตรในพื้นที่ โดยเริ่มจากการศึกษาว่า ปัญหาหนี้ของเกษตรกรมาจากอะไร และเมื่อพอทราบว่า ปัญหาหนี้ ของเกษตรส่วนใหญ่ มาจากค่าสารเคมี ค่าปุ๋ย ค่าการจ้างคนมาทำนา จึงได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ คือ หลักคิดทำเท่าที่พออยู่พอกิน รวมถึงลดการใช้สารเคมี และหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างเดียว ซึ่งตรงนี้จะช่วยลดเรื่องค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้
ส่วนปัญหาจากการทำนา เช่น เม็ดข้าวลีบ การกำจัดแมลงโดยไม่ใช้สารเคมี จึงได้ลองศึกษา และนำมาพัฒนาปรับใช้ ซึ่งพอเปลี่ยนมาใช้วิธีเกษตรแบบทฤษฏีใหม่นี้ โดยใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์ แทนสารเคมีก็ทำใช้ชีวิตดีขึ้น พื้นที่นาที่เคยมีปัญหา ก็หมดไป เมล็ดข้าวก็มีขนาดใหญ่ขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีการปลูกพืชผักชนิดอื่นเสริมด้วย เช่นฟักทอง ชะอม คะน้า ต้นหอม กะหล่ำดอก เป็นต้น ซึ่งเมื่อได้ลองเปลี่ยนมาการเกษตรทฤษฏีใหม่นี้ ปัจจุบันมีรายได้เข้าครอบครัวตอนนี้ก็อยู่ที่เดือนละ 20,000บาท เมื่อหันมาทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็เข้าใจ ถึงเรื่องความพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้ ว่าความพอเพียงนั้นอยู่ในใจของทุกคน เพราะถ้าทุกคนมีความพอเพียงแค่นี้ก็ทำให้เราก็สามารถอยู่ได้
ขณะที่นายสุทิน นาเทเวช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 18 ของตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสิน ซึ่งเป็นเกษตรกรที่นำเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้เช่นกัน เล่าให้ฟังว่า เดิมพื้นที่แถบนี้จะมีสภาพแห้งแล้งไม่มีน้ำ ไม่มีสระน้ำไว้ใช้ แต่เมื่อมีโครงการพระราชดำริ เข้ามาขุดบ่อน้ำในพื้นที่ตามแปลงนาในพื้นที่เกษตร ก็ทำใช้เกษตรกรแถบนี้มีน้ำจากฤดูฝน เก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง และก็ยังไม่ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตรในช่วงหน้าน้ำด้วย ภายหลังที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดสกลนคร มาจัดอบรมสอนปลูกพืช เลี้ยวสัตว์ เช่น มาฝึกอบรม และนำพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์มาแจกกับชาวบ้านและแนะนำการปลูก มะม่วง ฝรั่ง พริก พืชผักสวนครัว รวมถึงสอนการเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลานิล และกบ ก็ยิ่งทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเมื่อมีแหล่งน้ำเข้ามาแล้ว ก็ทำใช้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องออกไปทำงานรับจ้างต่างถิ่น และได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้า ซึ่งทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านแถบนี้มีความสุขยิ่งขึ้น
ทั้งนี้องคมนตรี ได้เยี่ยมชมการนำแนวพระราชดำริ ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ชาวบ้านนำมาขยายผลต่อยอด รวมถึงได้ร่วมปล่อยพันธุ์ปลา มอบผ้าห่มแก่ชาวบ้าน รวมถึงได้ทำพิธีเปิดโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำลำพะยัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ.ด้วย ซึ่งฝ่ายแห่งนี้ นายวินัย วิทยานุกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ลำน้ำลำพะยังนี้ เป็นแหล่งน้ำสำคัญของคนในอำเภอเขาวง แต่เมื่อถึงฤดูแล้งจะไม่มีน้ำ และเมื่อถึงหน้าฝนน้ำจะมาก และบางปีไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตรของประชาชน ซึ่งเมื่อมีพระราชดำริให้สร้างฝายนี้ ก็เพื่อเก็บกักน้ำของลำน้ำลำพะยังให้มีใช้ในฤดูแล้ง และชะลอน้ำไม่ไห้ไหลเข้าพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝน ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะเกิดประโยชน์แก่พื้นที่หลายพันไร่ และบ้านเรือนอีกหลายร้อยครัวเรือนที่จะได้รับประโยชน์
นอกจากนี้สถานที่นี้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เพราะเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมา และจะเข้าไปสำรวจดูพื้นที่การเกษตรของประชาชน แต่ต้องผ่านลวดหนาม ซึ่งพระองค์ไม่ได้ให้เจ้าหน้าที่ตัด รั้วลวดหนามของประชาชน แต่ได้ทรงลอดข้ามไป จึงทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของคนในพื้นที่จากอดีตมาถึงปัจจุบัน