ในการที่นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 26-27 มกราคม นี้ โครงการแรกที่ตรวจเยี่ยมคือ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง ของจังหวัดกาฬสินธุ์


นายอำพล ตมโคตร หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำ และลำรุงรักษาที่ 4 โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ รายงานว่า โครงการแห่งนี้ มีพระราชดำริสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนในอำเภอเขาวง มีน้ำใช้ในด้านการทำการเกษตร และอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี เนื่องจากพื้นที่แถบนี้มีสภาพอากาศที่ไม่มีความแน่นอน เมื่อถึงหน้าฝนลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะพัดมาจะปะทะกับแนวเขาโดยรอบแล้วก็จะทำให้ฝนข้ามไปตกในอำเภออื่นๆ ทำให้พื้นที่แถบนี้อับฝน มีน้ำใช้ในการเกษตรน้อย ประกอบกับฝนมักจะทิ้งช่วงในช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้อง โดยโครงการฯ นี้เริ่มตั้งแต่ปี 2546 แล้วเสร็จเมื่อปี 2552 มีการทำระบบอุโมงค์ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ในจังหวัดมุกดาหาร ที่ระดับเก็บกักถึง 10 ล้าน 5 แสนลูกบาศก์เมตร แต่มีการนำน้ำไปใช้ในพื้นที่การเกษตรเพียง 1,600ไร่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้ผันน้ำผ่านอุโมงค์ระยะทาง 9.7 กิโลเมตร มายังเขื่อนเก็บน้ำภายใต้โครงการพัฒนาลุ่มน้ำพะยังตอนบนแห่งนี้ ซึ่งมีความจุ 3 ล้าน 5 แสนลูกบาศก์เมตร รวมถึงขุดสระเก็บน้ำ รอบพื้นที่โครงการ 800 สระ ก็สามารถแก้ไขปัญหาแล้งในพื้นที่ได้อย่างถาวร ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับประโยชน์จำนวน 12,000 ไร่ มีประชาชนใช้น้ำ 1,037 ครัวเรือน เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากเดิมได้ไร่ละ 250กิโลกรัม ก็เพิ่มเป็น 600 กิโลกรัม


ขณะที่แนวทางการพัฒนาโครงการต่อไป คือการส่งเสริมให้เกษตรกรนำแนวพระราชดำริการเกษตรทฤษฎีใหม่มาทำควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่แล้ว คือ ช่วงฤดูแล้งหลังจากที่เกษตรกรปลูกข้าวนาปี ก็จะเปลี่ยนไปปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปัจจุบันปลูกมะเขือเทศ และจะนำส่งผลผลิตที่ได้ไปยังโครงการหลวงดอยคำ ที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
อย่างไรก็ตามส่วนสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงในปีนี้ นายอำพล เปิดเผยว่า เกษตรกรในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากยังมีแหล่งน้ำสำรองที่ขุดไว้กว่า 800 สระรอบพื้นที่โครงการ
ขณะที่นายชิด ศรีแสน เกษตรกรผู้ใช้น้ำจากโครงการนี้ กล่าวว่า เมื่อก่อนพื้นที่แถบนี้ไม่มีน้ำ แห้งแล้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะทำนาหน้าฝน และประกอบอาชีพเสริม เช่น สานกระติ๊บข้าว หรืออื่นๆ แต่ก็มีรายได้ไม่ค่อยพออยู่ พอกิน แต่เมื่อมีโครงการนี้เข้ามา ก็ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีน้ำใช้ในการเกษตรมากขึ้นและทำให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรได้มาขึ้น ทำให้ชีวิตทุกวันนี้พออยู่พอกิน มีน้ำสมบูรณ์ และตอนนี้ทำการเกษตรได้ตลอดปี ทั้งปลูกข้าว ปลูกพืชฤดูแล้งหมุนเวียน เข่น ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกมะเขือเทศ และนำส่งโครงการหลวงดอยคำ ทั้งนี้ส่วนตัวไม่มีอะไรตอบแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ช่วยเหลือตนเอง แต่ตนมีแต่ความภาคภูมิใจในน้ำพระทัยของพระองค์ที่ทรงช่วงเหลือประชาชนในตำบลแห่งนี้ โดยขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ
...
ผสข.วิรวินท์ ศรีโหมด