เมืองไทยฯ(2):พิจารณาสลากอาเซียน/คาดอียูประกาศผลไอยูยูเดือนเมษา/ผู้ป่วยโอมานตั้งใจมารักาษที่ไทย*

25 มกราคม 2559, 08:33น.


ปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ท.หนุน ศันสนาคม กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสลาก กล่าวว่า กำลังมีการตรวจสอบผู้ค้า 27 รายที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายการเป็นพ่อค้าคนกลาง ซึ่งทำให้ราคาสลากแพงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหานี้มาตลอด ส่วนการเพิ่มจำนวนสลากจาก 100 ล้านฉบับเป็น 120 ล้านฉบับ เพื่อนำมาขายให้รายย่อยมากขึ้น รวมถึงปรับระบบการซื้อให้มีจำนวนมากขึ้น และลดจำนวนการจองลง รวมถึงการตรวจสอบผู้ค้าลงทะเบียนไว้ในระบบของธนาคารกรุงไทย 1 แสน 7 หมื่นรายนั้น เป็นผู้ค้าจริงจำนวนเท่าใด คาดว่าเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้ว น่าจะเหลือผู้ค้าจริง 1 แสนราย นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาเรื่องการออกสลากอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งมีการให้นโยบายเมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องมีการหารือกับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป



กรณีการแก้ไขกฎหมายการเช่าที่ดิน หรือ พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 โดยขยายเวลาการให้เช่าดินของรัฐจาก 50 ปี เป็น 99 ปี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า เป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ ซึ่งระยะเวลาเช่า 50 ปี ไม่ดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีระยะเวลาการคืนทุนที่ยาวนาน แต่ทุกวันนี้มีการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว ไทยต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ มากขึ้น จึงต้องปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ดีกว่าคู่แข่งหรือไม่ก็เท่าเทียมกับเขา เช่น สิงคโปร์และมาเลเซียให้เช่าที่ดิน 99 ปี เวียดนาม 70 ปี



นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่งร่างแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯแล้ว คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 26 มกราคมนี้ หรืออย่างช้าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยมีสาระสำคัญคือกำหนดให้การประกอบธุรกิจของเอกชนและรัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายในกรอบกติกาเดียวกัน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการประกอบการธุรกิจ แต่มีข้อยกเว้นการกระทำของรัฐวิสาหกิจที่ทำเพื่อความจำเป็นต่อการทำงานของรัฐบาลประเทศ และประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมทั้งปรับให้องค์กรกำกับดูแลเป็นองค์กรอิสระ



ส่วนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี)  นางอภิรดีมอบให้ นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาความพร้อมของไทย เปิดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคเกษตร และภาครัฐ เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์ผลดีผลเสียการเข้าร่วมทีพีพีของไทย ซึ่งมีการรับฟังไปแล้วหลายกลุ่ม โดยในเดือนกุมภาพันธ์จะรับฟังความเห็นในภูมิภาคต่างๆ อาทิ ตาก นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี จันทบุรี เชียงใหม่ และขอนแก่น



ส่วนกรณีที่คณะทำงานสหภาพยุโรป (อียู) เก็บข้อมูลและตรวจสอบการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ของไทยนั้น นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า อียูยังไม่ได้แจ้งว่าจะประกาศผลการแก้ไขปัญหาประมงเมื่อใด แต่ที่ผ่านมา จะประกาศในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี



นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ได้ผู้รับเหมาแล้ว 11 สัญญา จากทั้งหมด 13 สัญญา ทำสัญญากับผู้รับเหมาที่ชนะการประกวดราคาแล้ว 3 สัญญา อีก 8 สัญญาอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองราคา และอีก 2 สัญญา อยู่ระหว่างประกวดราคา คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาครบภายในเดือนมกราคมหรือไม่เกินต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นจะเริ่มทยอยก่อสร้าง กำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2563


ส่วนมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงินประมาณ 8 หมื่น 4 พันล้านบาท จัดทำเงื่อนไขการประกวดราคาเสร็จแล้ว 1 ตอน จากทั้งหมด 40 ตอน จะเปิดซองประกวดราคาเดือนกุมภาพันธ์ เริ่มก่อสร้างเดือนเมษายน ส่วนที่เหลือจะทยอยประกวดราคา กำหนดแล้วเสร็จปี 2563 สำหรับมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงินประมาณ 5 หมื่น 5 พันล้านบาท อยู่ระหว่างทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตลอดแนวเส้นทางใหม่ คาดว่าเริ่มก่อสร้างเดือนกรกฎาคม กำหนดแล้วเสร็จในปี 2563 ทั้ง 3 โครงการเป็นโครงการเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องเริ่มดำเนินการในปี 2559



ด้านการสาธารณสุข ซึ่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือเมอร์ส ในประเทศไทยรายที่ 2 เป็นชายชาวโอมาน อายุ 71 ปี เดินทางมาพร้อมลูกชาย 1 คน เข้ามาประเทศไทยคืนวันที่ วันที่ 22 มกราคม 2559 และไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ทันที ในเวลา 01.30 น. วันที่ 23 มกราคม ซึ่งแพทย์พบว่า ผู้ป่วยมีอาการป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในประเทศโอมานแล้ว 1 สัปดาห์ โดยมีอาการเบาหวานร่วมด้วย แต่ไม่รอผลตรวจเชื้อยืนยันก็เดินทางมาประเทศไทย เนื่องจากเชื่อมั่นในมาตรฐานการรักษาโรคของไทย โดยไม่ได้แจ้งประสานงานผ่านระบบส่งต่อระหว่างประเทศและสายการบินให้ทราบก่อนว่าตัวเองป่วย โรงพยาบาลจึงนำตัวเข้าห้องแยกโรค และตรวจเลือดครั้งแรกให้ผลว่ามีการติดเชื้อ และแจ้งมาที่กรมควบคุมโรคตรวจซ้ำอีกครั้ง มีผลยืนยันว่ามีการติดเชื้อจริง สถาบันบำราศนราดูรจึงรับตัวไว้ที่ห้องแยกโรคของสถาบันบำราศนราดูร เวลา 18.00 น. วันที่ 23 มกราคม จากนั้นมีการติดตามผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง 37 คนพื่อติดตามเฝ้าระวัง 14 วัน โดยลูกชายของผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง จัดให้พักที่สถาบันบำราศนราดูร เพื่อติดตามอาการแล้วเช่นกัน



นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ผู้ป่วยทราบว่าป่วยโรคเมอร์ส แต่ไม่ได้แจ้งกัปตันหรือลูกเรือ เดินทางเหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และทำให้ไทยที่มีระบบเฝ้าระวังโรคเข้มงวดอยู่แล้ว ก็ต้องยิ่งเฝ้าระวังมากขึ้นอีก



นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ผู้ป่วยตั้งใจเข้ามารับการรักษาที่ประเทศไทยโดยตรง โดยไม่แจ้งประเทศต้นทางเพื่อเข้าสู่ระบบการรับส่งต่อระหว่างประเทศ จุดนี้น่าเป็นห่วง ซึ่งการที่สนามบิน และสายการบิน ปล่อยให้ผู้โดยสารรายนี้เดินทางออกนอกประเทศได้ ถือเป็นความหละหลวมมาก จึงต้องแจ้งไปยังสายการบินให้เพิ่มความเข้มงวดระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อให้มากขึ้นตามกฎของสายการบิน และแจ้งไปยังประเทศโอมานด้วย



ส่วนที่วัดกลางพระอารามหลวง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวานนี้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์ โดยมีประชาชนเข้าร่วมพิธีหลายหมื่นคน และในช่วงเช้านี้เป็นการเก็บอัฐิ

*-*

ข่าวทั้งหมด

X