ไทยเชื่อมั่น APEC เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

18 พฤศจิกายน 2561, 09:58น.


ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปค ครั้งที่ 26 ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี ที่เอเปคเฮ้าส์ (APEC Haus) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปค ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงที่ 1 หัวข้อ “การเชื่อมโยงเพื่อการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมผ่านอนาคตทางดิจิทัล” (Connecting for Inclusive Growth through Digital Future) และช่วงที่ 2 หัวข้อ “การบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและอนาคตของเอเปค (Regional Economic Integration and APEC’s Future) โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางการทำงานและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทยที่สอดรับกับ Digital Economy สรุปดังนี้



นายกรัฐมนตรีได้ย้ำความสำคัญของดิจิทัล ซึ่งจะเป็นตัวเร่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมในภูมิภาคเอเปค และเปิดโอกาสให้ทุกเขตเศรษฐกิจเอเปคก้าวหน้าไปพร้อมกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไทยเชื่อมั่นว่า เอเปคเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีประโยชน์และมีศักยภาพที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และครอบคลุม ไทยเสนอ 3 แนวทางในการกระชับความร่วมมือและรักษาบทบาทนำ ดังนี้



ประการแรก เอเปคควรแสดงความเป็นหนึ่งเดียวในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือระบบกฎเกณฑ์ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งไทยเชื่อมั่นว่า ระบบการค้าพหุภาคีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพ เป็นธรรม และคาดการณ์ได้ อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อทุกเขตเศรษฐกิจ โดยสมาชิกเอเปคสามารถร่วมหารือถึงแนวทางที่เหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพของ WTO ให้เป็นกลไกที่ทุกเขตเศรษฐกิจสามารถปฏิบัติตามได้อย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนนโยบายการค้าเสรีอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ เพื่อเป็นหนทางไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific - FTAAP)



ประการที่สอง เอเปคควรกระชับความร่วมมือเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงที่แท้จริงในภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิดการส่งเสริมความเชื่อมโยงภายในอนุภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุนและการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างอนุภูมิภาคต่างๆในระดับที่ใหญ่ขึ้น



ประการที่สาม ผลักดันให้เอเปคมีบทบาทนำในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี และการพัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล โดยนายกรัฐมนตรีหวังว่า สมาชิกเอเปคจะสนับสนุนให้ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของวาระการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเปค



นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เสนอแนวคิด Rebalancing APEC เพื่อให้เอเปคต่อยอดความสำเร็จของเป้าหมายโบกอร์ และปรับสมดุลสู่ความร่วมมือในอนาคต โดยเห็นว่า วิสัยทัศน์ใหม่ของเอเปคหลังปี 2563 ควรส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN โดยเฉพาะการส่งเสริมอุตสาหกรรมและสังคมที่ยั่งยืนและมีนวัตกรรม



ในขณะเดียวกัน การกระชับความร่วมมือระหว่างเอเปคและองค์การที่มีเจตนารมณ์คล้ายคลึงกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในวงกว้างถือเป็นเรื่องสำคัญที่สมาชิกควรยึดเป็นนโยบายต่อไปด้วย



...



ทำเนียบรัฐบาล

ข่าวทั้งหมด

X