ญี่ปุ่น เล็งประกาศภาวะฉุกเฉินเพิ่มอีก 5 จังหวัด
นายโยชิฮิเดะ สึกะ นายกฯญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลอาจประกาศภาวะฉุกเฉินในจังหวัดโอซากา เกียวโต เฮียวโงะ ไอจิ และกิฟุ ในวันนี้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของไวรัสโควิด-19 เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว 8 ม.ค. 2564 ญี่ปุ่น ประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียว รวมถึงจังหวัดคานากาวะ ชิบะ และไซตามะ มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 7 ก.พ.2564 จำนวนผู้ติดเชื้อในรอบ 24 ชั่วโมงของญี่ปุ่นทำสถิติสูงสุดที่ 7,882 คน รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 298,419 คน เกือบ 300,000 คน เสียชีวิต 3,962 ราย
WHO วิตก หลังญี่ปุ่นพบไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ แตกต่างจากอังกฤษ-แอฟริกาใต้
นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความวิตก หลังมีการพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ญี่ปุ่นที่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์อังกฤษและแอฟริกาใต้ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะสร้างปัญหาอย่างมาก ขณะที่ ระบบสาธารณสุขทั่วโลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤตในขณะนี้ หากไวรัสมีการแพร่ระบาดมากขึ้น ก็จะมีโอกาสกลายพันธุ์ได้มากขึ้น
สถาบันโรคติดต่อแห่งชาติของญี่ปุ่น (NIID) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2564 สถาบันได้พบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จากคนที่เดินทางมาจากบราซิล จำนวน 4 คน
ไวรัสโควิด-19 ดังกล่าวมีสายพันธุ์ B.1.1.248 ขณะที่ไวรัสโควิด-19 ที่พบในอังกฤษมีสายพันธุ์ SARS-CoV-2 VOC 202012/01 ส่วนไวรัสโควิด-19 ที่พบในแอฟริกาใต้มีสายพันธุ์ 501Y.V2
NIID ระบุว่า ขณะนี้ยังเป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวจะแพร่ระบาดได้รุนแรงเพียงใด และวัคซีนที่มีการพัฒนาในขณะนี้จะสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวได้หรือไม่
อังกฤษ สร้างที่เก็บศพชั่วคราว คนตายพุ่ง-เร่งฉีดวัคซีน
เจ้าหน้าที่อังกฤษ สร้างที่เก็บศพชั่วคราวในหลายเมือง เช่น กรุงลอนดอน, เมืองซูรีย์ และเมืองเคนท์ เนื่องจาก ห้องเก็บศพในโรงพยาบาลไม่มีที่ว่างที่จะรองรับร่างผู้เสียชีวิตที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
การพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อในอังกฤษ มีสาเหตุจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ทำให้การแพร่ระบาดรวดเร็วขึ้นร้อยละ 70
อังกฤษมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่า 3,000,000 คน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก อยู่ที่ 3,173,274 คน และเสียชีวิตมากกว่า 80,000 ราย ซึ่งเป็นอันดับ 5 ของโลกเช่นกัน ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 83,342 ราย
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แถลงว่า อังกฤษกำลังเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก และโรงพยาบาลบางแห่งใกล้ขาดแคลนออกซิเจน
คริส วิตตี้ ประธานที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาล เตือนว่า ในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า อังกฤษจะเผชิญช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดเรื่องที่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 32,000 คน เทียบกับ 18,000 คนในช่วงพีคของการระบาดรอบแรกเมื่อเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว
เทสโก้อังกฤษ ประกาศห้ามคนไม่ใส่หน้ากากอนามัยเข้าห้าง
ห้างเทสโก้ ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในอังกฤษ ประกาศห้ามคนที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยเข้าห้าง นอกจากเป็นผู้ที่ได้รับการยกเว้นทางการแพทย์ เทสโก้ ขอความร่วมมือให้ลูกค้าเดินซื้อสินค้าเพียงคนเดียว หากไม่ใช่คนที่ต้องดูแลคนอื่น หรือเข้าไปพร้อมกับเด็กเล็ก เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในห้าง และป้องกันพนักงานติดเชื้อ
คาด! เยอรมัน ขยายเวลาล็อกดาวน์ถึงต้นเดือนเม.ย. ช่วง 8-10 สัปดาห์จากนี้ลำบากมากขึ้น
หนังสือพิมพ์รายวัน บิลด์ หนังสือพิมพ์ยอดจำหน่ายสูงของเยอรมนี รายงานอ้างจากแหล่งข่าวว่า นางอังเกลา แมร์เคิล นายกฯของเยอรมนี เปิดเผยกับ ส.ส.ของพรรคแนวอนุรักษนิยมว่า อาจจะต้องขยายคำสั่งล็อกดาวน์หรือปิดพื้นที่ควบคุมโรคไปจนถึงต้นเดือน เม.ย.2564 เพราะถ้าไม่หาทางหยุดยั้งไวรัสกลายพันธุ์จากอังกฤษได้ คงจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าภายในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ ดังนั้นจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 สัปดาห์ สำหรับมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
ด้านผู้เข้าร่วมประชุม 3 ราย เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า นายกฯแมร์เคิล ไม่ได้พูดเจาะจงว่าจะขยายเวลาล็อกดาวน์ออกไปจนถึง เม.ย.และไม่ได้เตือนว่าจะมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นสิบเท่า บอกแต่ว่าในช่วง 8-10 สัปดาห์ต่อจากนี้จะเป็นช่วงเวลายากลำบากหากไวรัสกลายพันธุ์จากอังกฤษระบาดเข้ามาในเยอรมนี ส่วนประเด็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น นายกฯเยอรมนี ยกตัวอย่างของประเทศไอร์แลนด์
เยอรมนีใช้คำสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ หลังจากตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่อีก 12,802 คน รวมเป็นผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 1,933,826 คน เสียชีวิตเพิ่ม 891 ราย รวมเสียชีวิต 41,577 ราย
ส่งกล่องดำไปตรวจพิสูจน์ หาสาเหตุเครื่องบินสายการบินศรีวิจายาแอร์ตกในทะเลชวา
ปฏิบัติการค้นหากล่องดำของเครื่องบินโดยสารสายการบินศรีวิจายาแอร์ ที่ประสบอุบัติเหตุตกในทะเลชวาเมื่อวันเสาร์ ล่าสุดเจ้าหน้าที่พบกล่องดำแล้ว เป็นกล่องบันทึกข้อมูลการบินและได้นำขึ้นมาบนฝั่งเพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่กรุงจาการ์ตา ตรวจสอบ จากนี้จะค้นหากล่องดำอีกกล่อง ซึ่งเป็นกล่องบันทึกเสียงในห้องนักบิน
สำหรับกล่องดำของเครื่องบินจะบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับความเร็ว ความสูง และทิศทางของเครื่องบินรวมทั้งบทสนทนาระหว่างนักบินด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน ระบุว่า ข้อมูลจากกล่องดำสามารถอธิบายสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตกได้เกือบร้อยละ 90
ด้านรัฐมนตรีคมนาคมอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า เครื่องบินโบอิ้ง 737-500 เที่ยวบิน SJ182 ของสายการบินศรีวิจายาแอร์ลำนี้ ไม่ได้ใช้งานมาตั้งแต่เดือนมี.ค.จนถึงเดือนธ.ค.2563 ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 และเพิ่งผ่านการตรวจสอบระบบความปลอดภัยต่างๆ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2563 ว่าพร้อมกลับมาใช้งาน ก่อนกลับมาบินให้บริการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 โดยไม่พบความผิดปกติ และมาเกิดอุบัติเหตุเมื่อวันเสาร์
จนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดเครื่องบินโดยสารลำนี้ ซึ่งใช้งานมาเป็นเวลา 26 ปี จึงหายจากจอเรดาร์และเกิดอุบัติเหตุตก หลังเพิ่งขึ้นจากสนามบินประมาณ 4 นาทีเท่านั้น แต่จากสภาพซากเครื่องบินที่กระจายเป็นวงจำกัดบนพื้นที่ทะเล ทำให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเครื่องบินยังคงสภาพเดิมไม่ได้ฉีกขาดหรือเกิดระเบิดเป็นชิ้นๆ ก่อนตกกระแทกพื้นน้ำ
การตรวจสอบเทปบันทึกเสียงระหว่างนักบินกับเจ้าหน้าที่หอบังคับการบินไม่พบความผิดปกติ แต่จากข้อมูลเรดาร์ พบว่า เครื่องบินลดระดับความสูง 3,000 เมตร (ประมาณ 10,000 ฟุต) ด้วยเวลาไม่ถึง 1 นาที ก่อนที่จะกระแทกทะเลชวา ทำให้คนบนเครื่อง 62 รายเสียชีวิตยกลำ ล่าสุด เจ้าหน้าที่ยืนยันผลตรวจเอกลักษณ์บุคคล หรือดีเอ็นเอผู้เสียชีวิตรายแรกได้แล้ว คือนายออคคี บิสมา วัย 29 ปี พนักงานต้อนรับชายบนเครื่องบิน