นพ.บิน เกา หัวหน้าทีมวิจัยจากโรงพยาบาลมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยแคปปิตอล เมดิคอลของจีน หน่วยงานหลักที่วิจัยเรื่องนี้ เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์แลนเซ็ต ระบุว่า จากการศึกษาคนไข้โควิด-19 จำนวน 2,469 คนที่หายป่วยและออกจากโรงพยาบาลจิน ยินตัน เมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางการแพร่ระบาดทางภาคกลางของจีน ศึกษาระหว่างวันที่ 7 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 พบว่าคนไข้ส่วนใหญ่ 3 ใน 4 หรือ 1,733 คนที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว จะมีอาการต่างๆอย่างน้อยหนึ่งอย่างเช่น อ่อนเพลียและหลับลำบาก ต่อไปอีก 6 เดือนหลังหายป่วย แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าจะหายป่วยแล้ว แต่คนไข้ส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบเรื่องสุขภาพในระยะยาวจากการติดเชื้อโรคโควิด-19
สำหรับคนไข้ที่ป่วยรุนแรง ผลเอ็กซเรย์แสดงให้เห็นว่าปอดของคนไข้ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ทีมวิจัยพบว่ามีผลกระทบทางด้านจิตใจ เช่น ความวิตกกังวลและโรคซึมเศร้า (ร้อยละ 23) ทีมวิจัย ระบุว่า เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคใหม่ ผู้เชี่ยวชาญ เพิ่งจะทราบเรื่องนี้ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทีมแพทย์จะต้องให้การดูแลคนไข้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่ป่วยหนัก แม้ว่าจะหายป่วยและแพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลแล้วก็ตาม ผลการศึกษานี้ย้ำถึงความสำคัญในการวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้เพื่อให้เข้าใจภาพรวมเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวหลังป่วยจากโรคโควิด-19
ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก รวมทั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค(CDC)ของสหรัฐฯ ศึกษาผลกระทบระยะยาวจากเชื้อโรคโควิด-19 โดย CDC ระบุว่า กลุ่มอาการที่พบได้ทั่วไปหลังหายป่วยจากโรคโควิด-19 เช่นอาการอ่อนเพลีย,หายใจเป็นจังหวะสั้นๆ หายใจไม่เต็มปอด ปวดตามข้อและปวดหน้าอก ส่วนอาการอื่นๆ เช่น อาการเซื่องซึม ความคิดไม่ปราดเปรียวเหมือนเดิม ไม่มีสมาธิ ซึมเศร้าและปวดศีรษะ CDC ระบุว่าแม้ว่าคนไข้ส่วนใหญ่จะหายป่วย สุขภาพกลับมาแข็งแรงตามปกติ แต่บางคนยังคงได้รับผลกระทบต่างๆหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน หลังหายป่วย
Cr: CNN