ทันสถานการณ์โลกเวลา 06.30น.วันอังคารที่ 12 มกราคม 2564

12 มกราคม 2564, 05:49น.



ส.ส.เดโมแครต ยื่นญัตติถอดถอน "ทรัมป์" ออกจากตำแหน่ง




          สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคเดโมแครต จำนวน 3 คน ยื่นญัตติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในความผิดข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดการจลาจล การกระทำของประธานาธิบดีทรัมป์ ถือว่า เป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยและแทรกแซงการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ ตราบใดที่เขายังอยู่ในตำแหน่งต่อไป ก็จะเป็นภัยต่อความมั่นคง ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ คาดว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯจะทำการลงมติต่อญัตติดังกล่าวในสัปดาห์นี้



          นอกจากนี้ นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เรียกร้องให้นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใช้บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 25 เพื่อปลดประธานาธิบดีทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง ซึ่งหากนายเพนซ์และคณะรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะดำเนินการดังกล่าว สภาคองเกรสก็จะจัดการประชุมเพื่อถอดถอนเอง คาดว่าจะมีการพิจารณาในวันพุธนี้



เมลาเนีย ทรัมป์ ‘เฟิร์ส เลดี้’ ประณามความรุนแรงเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภา



          เป็นครั้งแรกที่ นางเมลาเนีย ทรัมป์ สุภาพสตรีหมายเลข 1 แสดงความเห็นหลังเกิดเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภา ด้วยการออกแถลงการณ์เผยแพร่ทางเว็บไซต์ทำเนียบขาวและแชร์ผ่านทวิตเตอร์แอคเคาท์ แสดงความเสียใจต่อผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์บุกอาคารรัฐสภาทั้ง 6 ราย รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอาคารรัฐสภาด้วย พร้อมทั้งระบุว่า รู้สึกผิดหวังและท้อแท้ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจทำให้เกิดการโจมตีกล่าวโทษและมีการกล่าวหาชี้นำด้วยข้อมูลที่บิดเบือนว่านางเมลาเนีย มีส่วนเกี่ยวข้อง



          นางเมลาเนีย ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่อาคารรัฐสภา พร้อมวิงวอนประชาชนว่าอย่าได้ตั้งสมมุติฐานบนพื้นฐานของสีผิวและใช้อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันมาเป็นเหตุผลหรือเป็นฐานในการก่อเหตุการณ์ที่เลวร้าย นอกจากนี้ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ขอร้องให้ประชาชนให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะทำให้คนอเมริกันสามัคคีกันและขออย่ามีความแตกแยก



          สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง “no comments” ไม่ได้แสดงความคิดเห็นว่าใครต้องรับผิดชอบในการปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงเมื่อวันพุธที่แล้ว และไม่ได้กล่าวถึงกรณีที่มีการยื่นเรื่องถอดถอนนายทรัมป์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ก่อนที่นายโจ ไบเดน จะเข้าสู่พิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป




          นางเมลาเนีย กล่าวสรุปในตอนท้ายของแถลงการณ์เพียงว่า “นับเป็นเกียรติประวัติของชีวิตที่ดิฉันได้รับใช้(ชาวอเมริกัน)ในฐานะ ‘เฟิร์ส เลดี้’ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง



คาด ‘วิลเลียม เจ. เบิร์นส์’ นักการทูตชั้นนำ นั่งผอ.ซีไอเอ



          ว่าที่ประธานาธิบดีไบเดน ของสหรัฐฯ ทาบทามนายวิลเลียม เจ. เบิร์นส์ อดีตนักการทูต และ รมช.ต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนใหม่ของสำนักข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) นายวิลเลียม เบิร์นส์ เป็นนักการทูตของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นานกว่า 33 ปี ตำแหน่งสำคัญรวมถึงเอกอัครราชทูตประจำโอมาน ระหว่างปี พ.ศ. 2541–2544 และประจำรัสเซีย ระหว่างปี 2548–2551 และตำแหน่งสุดท้ายคือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนจะเกษียณเมื่อปี 2557 แล้วรับตำแหน่งประธานกองทุนบริจาคคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) สถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน จนถึงปัจจุบัน



          นายเบิร์นส์ เคยได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาลับ จนนำไปสู่การทำข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน เมื่อปี 2558 ในยุคของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีความเชี่ยวชาญด้านกิจการรัสเซีย และตะวันออกกลาง สามารถพูดได้หลายภาษา รวมถึง รัสเซีย อาหรับ และฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้เขาได้รับการจับตามองว่าเขาอาจจะได้รับการคัดเลือกจากนายไบเดน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ เนื่องจากมีประสบการณ์ลึกซึ้งเกี่ยวกับอิหร่าน



          นายไบเดนและพรรคเดโมแครต พยายามคัดสรรบุคคลที่มีผลงานโดดเด่นเข้าร่วมทีมงานความมั่นคงแห่งชาติ



          แถลงการณ์ของนายไบเดน กล่าวว่า นายเบิร์นส์ เป็นนักการทูตชั้นยอด ประสบการณ์หลายสิบปีบนเวทีโลก เคยช่วยคุ้มครองชาวอเมริกันและประเทศให้ปลอดภัย



          ขั้นตอนการแต่งตั้ง นายเบิร์นส์ จะต้องได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภา ซึ่งพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากฉิวเฉียด นายไบเดน ได้ร้องขอให้สภาคองเกรส อนุมัติทีมงานความมั่นคงแห่งชาติที่เขาเสนอรายชื่ออย่างน้อยในวันใกล้เคียงกับวันที่ 20 ม.ค. 2564 ที่เขากำหนดจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ



การเมืองสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนเทขาย หุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ



          ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดตลาดวันที่ 10 ม.ค.2564 ลดลง นักลงทุนเทขายทำกำไร หลังจากแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ รอดูรายงานผลประกอบการและจับตาสถานการณ์ทางการเมืองในกรุงวอชิงตัน ด้วยความกังวล



-ดาวโจนส์ ลดลง 89.28 จุด หรือร้อยละ 0.29 ปิดที่ 31,008.69 จุด



-เอสแอนด์พี ลดลง 25.07 จุด หรือร้อยละ 0.66 ปิดที่ 3,799.61 จุด



-แนสแดค ลดลง 165.54 จุด หรือร้อยละ 1.25 ปิดที่ 13,036.43 จุด



          ราคาทองคำ ปิดบวกแข็งแกร่ง ฟื้นตัวจากดิ่งลงอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว



-ราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือน ก.พ.2564 เพิ่มขึ้น 15.40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดที่ 1,850.80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์



           สถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้ความเคลื่อนไหวในตลาดน้ำมันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจากหลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์



-สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนก.พ.2564 เพิ่มขึ้น 1 เซ็นต์ ปิดที่ 52.25 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล



-เบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมี.ค.2564 ลดลง 33 เซ็นต์ ปิดที่ 55.66 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

          จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น สถาบันจอนห์ ฮอปกิ้น รายงานว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อมากกว่า 90 ล้านคนแล้ว ขณะที่หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศอย่างเข้มข้น



-สหราชอาณาจักร เผชิญสถานการณ์เลวร้ายต่อเนื่องมานานหลายสัปดาห์



-เยอรมนี จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

-จีนแผ่นดินใหญ่ พบจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงสุดในรอบกว่า 5 เดือน หลังพบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงในเมืองเหอเป่ย ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงปักกิ่ง 



รัฐบาลมาเลเซีย โต้ข่าว นายกฯ ป่วยมะเร็งกำเริบ



          ทำเนียบนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ออกแถลงการณ์ว่ากระแสข่าวที่กำลังแพร่สะพัดไปทั่วประเทศว่านายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยาสซิน มีอาการหนักจากโรคมะเร็งกำเริบ และต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานที่สิงคโปร์  ซึ่งจะทำให้ผู้นำมาเลเซีย วัย 73 ปี ต้องแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีเพื่อรักษาการแทน "ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง" และคณะแพทย์ประจำตำแหน่ง ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีเนื้อร้ายที่อวัยวะส่วนใด



          นายมูห์ยิดดิน เคยเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน เมื่อปี 2561 ซึ่งใช้เวลานานถึง 2 ปี ในการเข้ารับการผ่าตัดและทำเคมีบำบัดจนครบคอร์ส โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยืนยันว่า "อาการจะไม่กำเริบ"



          สถานการณ์การเมืองของมาเลเซียตอนนี้อยู่ในภาวะเปราะบางอย่างมาก จากการที่พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงสนับสนุนร่วมกัน "ปริ่มน้ำ" จากทั้งหมด 222 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร และความพยายามของนายอันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซียและประธานของแนวร่วมพรรคการเมืองในนาม "ปากาตัน ฮาราปัน" หรือ "พันธมิตรแห่งความหวัง" ซึ่งยังคงยืนยันว่ามีเสียงสนับสนุน "ที่เพียงพอและมีเสถียรภาพ" ในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเสียงสนับสนุนนั้นมีจำนวนเท่าใด




 

ข่าวทั้งหมด

X