นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ระลอกใหม่ ทั่วประเทศมีผู้ป่วยอาการหนักที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวน 11 คนและคาดว่าจะมีผู้ป่วยอาการปานกลางและรุนแรงหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบผู้ป่วยอาการรุนแรงในภาคตะวันออก มากกว่า จ.สมุทรสาคร เนื่องจากโรคประจำตัวและปัจจัยต่างๆ และคาดจะพบผู้ป่วยกระจายไปอีกหลายจังหวัด จึงมีการเตรียมพร้อมทรัพยากรและเตียงสำรองไว้ 22,690 เตียง อยู่ในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับพื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีเตียงรองรับ 2,778 เตียง ซึ่งรองรับผู้ป่วยอาการรุนแรงจากพื้นที่โดยรอบด้วย ขณะนี้มีผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 277 คน เป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 8 คน ต้องอยู่ในไอซียูและใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อคำนวณจากข้อมูลการรักษา คือ ผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยใช้เวลารักษาในโรงพยาบาล 14 วัน อาการปานกลางจนถึงรุนแรงอยู่โรงพยาบาล 17 วัน ดังนั้น พื้นที่ กทม.และปริมณฑล สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้เพิ่มจำนวน 276-480 รายต่อวัน เฉพาะห้องไอซียูรองรับเพิ่มได้วันละ 24 ราย ทั้งประเทศรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มได้ 1,103-1,920 รายต่อวัน เฉพาะห้องไอซียูรองรับเพิ่มได้ 96 รายต่อวัน
นายแพทย์ณัฐพงศ์ ยืนยันว่า มีระบบบริหารจัดการเตียงและเวชภัณฑ์ โดยทุกโรงพยาบาลจะรายงานภาพรวมของทรัพยากรทั้งหมดและการใช้ในแต่ละวันเข้ามาในระบบ เพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบัน ทำให้ทราบว่ามีเตียงเท่าไร มีเครื่องช่วยหายใจเพียงพอหรือไม่ เวชภัณฑ์ต่างๆ หน้ากากและชุดป้องกันมีมากน้อยเท่าไร เพื่อจัดสรรให้เพียงพอ เบื้องต้นมีการสำรองไว้เพียงพอประมาณ 2-4 เดือน
อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงการไปที่ชุมชน โดยเน้นการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ถ้ามีประวัติเสี่ยงการสัมผัสโรคให้ไปขอรับการตรวจ มีวินัยป้องกันตนเองโดยเว้นระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากาก ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะและหมอชนะ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ปิดบริการแต่อาจลดบริการลงบ้างเพื่อลดความแออัด ป้องการการแพร่กระจายเชื้อ ขอให้โทรศัพท์สอบถามเพื่อนัดคิวหรือเลื่อนนัด รวมถึงขอรับบริการพบแพทย์ออนไลน์ได้ และบริการส่งยาทางไปรษณีย์เพื่อลดการมาโรงพยาบาล
...