หมอฟันรักษา 'บอส อยู่วิทยา' ติดต่อทันตแพทยสภายืนยันไม่ได้ใช้โคเคน รักษาฟัน

31 กรกฎาคม 2563, 17:13น.


           ประเด็นใช้โคเคนเพื่อรักษาฟัน ถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง หลังพนักงานสอบสวนตำรวจได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร การแจ้งข้อกล่าวหา พบสารแปลกปลอมที่เกิดจากยาเสพติดในร่างกายของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ผู้ต้องหาคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 โดยมีผลตรวจทางนิติเวชวิทยายืนยัน แต่ปรากฏว่า มีทันตแพทย์ยืนยันว่า สารที่พบนั้นมาจากยาที่มีส่วนผสมของโคเคนในการรักษาฟัน ซึ่งเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปผสมจะทำให้เกิดสารแปลกปลอมในร่างกาย



          ทพ.เผด็จ ตั้งงามสกุล อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่หนึ่ง และกรรมการทันตแพทยสภากล่าวว่า ขณะนี้ทันตแพทย์คนที่รักษานายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ได้ติดต่อมาเป็นการส่วนตัว กับกรรมการทันตแพทยสภาท่านหนึ่ง พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้มีการใช้โคเคนในการรักษาฟันแต่อย่างใด เพราะคลินิกทันตกรรม หรือในวงการทันตกรรมไม่มีการใช้สารโคเคนอยู่แล้ว เพราะเป็นยาเสพติดจะมีการใช้เพียงยาชาที่ได้รับอนุญาตทางทันตกรรมเท่านั้น



          นอกจากนั้น ยังให้ข้อมูลว่า ได้ทำฟันให้นายบอสวันที่ 29 สิงหาคม 2555  ก่อนเกิดเหตุห้าวัน เป็นการรักษาเหงือก มีการฉีดยาชา mepivacaine ให้เป็นยาชากลุ่มเดียวกับ ลิโดเคน และมีการจ่ายยา amoxycillin ให้เท่านั้น ขณะนี้ ทันตแพทย์รายนี้รอเข้าพบ กมธ. และทันตแพทยสภาเพื่อให้ข้อมูลอยู่และยืนยันว่าได้ให้การกับตำรวจไปเมื่อหลายปีก่อนว่าไม่มีการใช้โคเคนในการรักษาฟัน ให้นายบอส          



          ส่วนจะมีการเชิญทันตแพทย์รายนี้มาที่ทันตแพทยสภาหรือไม่ ทพ.เผด็จ กล่าวว่า ต้องรอให้เขาพร้อมและเตรียมข้อมูลการรักษาเนื่องจากผ่านมา 7 ปีกว่า แต่ที่จำได้คือยืนยันว่าไม่ได้ใช้โคเคน ซึ่งเขาก็สงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนบอกว่ามีการใช้สารโคเคน



          ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทพ.พจนารถ พุ่มประกอบศรี นายกทันตแพทยสภา ให้ข้อมูลว่า โคเคนเป็นสารเสพติดที่มาจากพืชโคคา ในอดีตอาจจะเคยใช้ในวงการทันตกรรมเพื่อให้เกิดอาการชา แต่ปัจจุบันไม่มีทันตแพทย์ใช้สารโคเคนในการทำฟันแล้ว เพราะมีผลข้างเคียงกับสุขภาพ ทำให้ความดันโลหิตสูง มีผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ จึงมีการพัฒนายาชาประเภทอื่น ๆ ขึ้นมา เป็นลักษณะของสารสังเคราะห์ คือ ลิโดเคน ,เมพิวาเคน ,อะทิเคน โดยยาชาตัวที่เป็นสารสังเคราะห์ จะทำให้เกิดอาการชาที่ดีกว่า ผลข้างเคียงน้อย ทำให้ทันตแพทย์เลือกใช้สารนี้ จนกระทั่งโคเคนไม่ถูกนำมาใช้และหายไปจากวงการทันตกรรม



          ส่วนตัวยาชาที่เป็นสารสังเคราะห์เลียนแบบ จะมีใช้ 2 รูปแบบคือ การป้ายเยื่อบุบริเวณที่ต้องการให้เกิดการชา และการฉีดเฉพาะจุด จะออกฤทธิ์ไม่นาน ประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนจะมีสารตกค้างอยู่ในร่างกายหรือไม่นั้น ก็เหมือนกับสารสังเคราะห์ชนิดอื่น ๆ ที่มีการตกค้างได้บ้าง แต่ไม่ได้อยู่นานตลอดวัน เช่น น้ำยาบ้วนปาก ที่มีการผสมแอลกอฮอล์ หากใช้บ้วนปากแล้ว เป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ ก็จะพบปริมาณแอลกอฮอล์ตกค้างได้

ข่าวทั้งหมด

X