ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30 น.วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2563

27 กรกฎาคม 2563, 07:43น.



อัยการ จะอุทธรณ์ คดีเสี่ยเบนซ์ ขับรถชนรองตี๋ ไม่รอลงอาญา   



          คดีนายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ เจ้าของธุรกิจผลิตและประกอบอะไหล่รถยนต์ ขับรถเบนซ์สปอร์ตชนประสานงากับรถส่วนตัวของ พ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล หรือรองตี๋ รอง ผกก.สอบสวน กก.2 บก.ป. จนเสียชีวิตพร้อมภรรยา ส่วนลูกสาวคนเล็กได้รับบาดเจ็บ ศาลจังหวัดตลิ่งชัน มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2562



-ลงโทษจำคุก 6 ปี ปรับ 200,000 บาท แต่ให้การเป็นประโยชน์ สำนึกผิด ไม่เคยมีประวัติต้องโทษมาก่อน



-ศาลให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีของสังคม ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 ปี ปรับ 100,000 บาท และโทษจำคุกรอลงอาญา



-รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง ใน 2 ปี รวมทั้งบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ 48 ชั่วโมง



-ห้ามดื่มสุรา ของมึนเมา



          ขณะที่ นายสมชาย ผู้ก่อเหตุยินยอมเยียวยาชดใช้ค่าเสียหาย 45 ล้านบาท ให้ครอบครัวของนายตำรวจผู้เสียชีวิต ซึ่งปัจจุบันคงเหลือเพียงบุตรสาวคนโตและบุตรสาวคนเล็ก



          ล่าสุด พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลสูงธนบุรี พิจารณาแล้ว มีคำสั่งยื่นอุทธรณ์คดีขอให้ศาลไม่รอการลงโทษนายสมชาย ต่อศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป



นายกฯ สั่งสอบคดีไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’ ยืนยัน ไม่เคยช่วยใคร

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามข่าวกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ขับรถเฟอร์รารี่ ชนเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ทองหล่อ ด้วยความไม่สบายใจ เห็นว่าควรต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงของคดีดังกล่าวตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ถึงขั้นตอนของอัยการว่าเป็นมาอย่างไร รวมทั้งรายงานโดยด่วน ยืนยันว่านายกฯไม่เคยช่วยเหลือใคร ไม่เคยแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ไม่มีผลประโยชน์ ย้ำว่าผู้ที่เกี่ยวข้องคือ ตำรวจเจ้าของคดี และพนักงานอัยการที่ไม่ได้แต่งตั้งโดยนายกฯ มีอำนาจพิจารณาคดีได้อย่างอิสระ ดังนั้นนายกฯไม่สั่งการใครในคดีนี้ ทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง และขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ใครทำผิดต้องถูกลงโทษ



แฟ้มภาพ 



กมธ.2 ชุด เรียกตำรวจ –อัยการ ชี้แจง 29-30 ก.ค.



          นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมาธิการ(กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คดีนี้มีการขอความเป็นธรรมเฉพาะผู้ต้องหา แต่ไม่มีการขอความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต การประชุมในวันที่ 29 ก.ค. จะเชิญตำรวจ และ อัยการมาชี้แจง ขอให้เชื่อมั่นว่ากรณีนี้จะทำให้เกิดความเสมอภาค



           ด้านนายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส. นครศรีธรรมราช รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ และที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการ การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กมธ.ตำรวจ มีมติเชิญผู้เกี่ยวข้องในคดีทั้ง ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. (คุมงานกฎหมาย) ตัวแทนตร. และตัวแทน บช.น. เข้าชี้แจงและตอบข้อสงสัยในวันที่ 30 ก.ค.นี้ เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา



อสส.ตั้งคณะทำงาน 7 คนเร่งสอบ



          สำนักงานอัยการสูงสุด แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบเรื่องนี้  โดยมี นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และคณะทำงานอื่นๆ รวม 7 คน โดยให้คณะทำงานเร่งตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงโดยเร็ว  อัยการสูงสุด กำลังปฏิบัติราชการอยู่ในพื้นที่สำนักงานอัยการภาค 4 ในการประชุมสัมมนาข้าราชการฝ่ายอัยการในเขตพื้นที่ภาค 4 จ.ขอนแก่น ระหว่าง วันที่ 23-26 ก.ค.



สว.ตั้งข้อสังเกต พยานใหม่ 2 คน เร่งนายกฯตรวจสอบข้อเท็จจริง  



          นายคำนูน สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่องพยานในที่เกิดเหตุใหม่ทั้ง 2 คน ที่ขับรถอยู่ในที่เกิดเหตุตามหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสียชีวิตว่า เหตุใดเพิ่งมาให้การในช่วงนี้ เมื่อ 8 ปีก่อนขณะเกิดเหตุโด่งดังไปอยู่ที่ไหน ประเด็นนี้อัยการสงสัยหรือไม่ มีเหตุผลใด มีน้ำหนักเพียงพอมาหักล้างข้อสงสัย ขอให้นายกฯ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ



ผลักดันชาวกัมพูชา 26 คน ลอบข้ามแดนมาหางานทำในพื้นที่ จ.สระแก้ว    

           พ.อ.เอกพงษ์ กฤตยาเกียรติชุติ ผบ.ชุดควบคุมกรมทหารพรานที่ 12 สั่งการให้ ร.อ.เตชทัต เฉลิมจิตต์ ผบ.ร้อยทหารพรานที่ 1206 ให้ประสานกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำกำลังเข้าร่วมลาดตระเวนตามแนวชายแดนในพื้นที่ ต.ผ่านศึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อป้องกันการลักลอบการนำเอาสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ รวมทั้งแรงงานผิดกฎหมายลักลอบข้ามชายแดนอย่างเข้มงวด โดยเมื่อมาถึงบริเวณทางเข้าหมู่บ้านโนนสาวเอ้ ต.ผ่านศึก พบกลุ่มบุคคลต้องสงสัยจำนวนหนึ่งเดินอยู่ใกล้ป่าอ้อย ห่างจากชายแดน 500 เมตร เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวขอตรวจค้น ส่งผลให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวแตกฮือ วิ่งหลบหนีเข้าไปในป่าอ้อยลึก เจ้าหน้าที่จึงวางกำลังปิดล้อม โดยใช้เวลานาน 1 ชั่วโมง จึงจับกุมแรงงานชาวกัมพูชาได้จำนวน 26 คน แยกเป็นชาย 11 คน หญิง 14 คน และเด็กชาย 1 คน โดยทั้งหมดไม่มีหนังสืออนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศไทย จึงควบคุมตัวมาสอบสวน



          จากการสอบสวน แรงงานทั้งหมดยอมรับสารภาพว่าเดินทางมาจากหลายพื้นที่ของประเทศกัมพูชา ต้องการกลับเข้าไปทำงานกับนายจ้างคนไทยซึ่งเคยทำมาก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วไม่มีงานทำ ครอบครัวขาดแคลนอาหาร จึงชวนกันเดินทางมาเพื่อลักลอบข้ามชายแดนจากฝั่งกัมพูชาเข้ามาฝั่งไทย โดยมีนายหน้าคนกัมพูชาพาข้ามในเวลากลางคืน โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายหัวละ 3,000-4,000 บาท หลังจากสอบสวนแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำตัวแรงงานทั้งหมดผลักดันกลับประเทศกัมพูชา



 



 



 



 




 

ข่าวทั้งหมด

X