หลังความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปิดตลาดลดลงต่ำกว่า 100 จุด นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า วันนี้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรง โดยในช่วงเวลา 15.25น. ดัชนีปรับตัวลดลงแตะระดับร้อยละ 8 อยู่ที่ระดับ 1,037.05 จุด ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องใช้มาตรการหยุดทำการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว (เซอร์กิต เบรกเกอร์) เป็นเวลา 30 นาที แต่ยังมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เฉพาะแค่พียงตลาดหุ้นไทย แต่ตลาดหุ้นในต่างประเทศอื่นๆก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปก็ปรับตัวลงมากว่า ร้อยละ 4-5 และบางประเทศลดลงกว่าระดับร้อยละ12
ขณะที่การปรับมาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ใหม่ก็ทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพมากขึ้นและดัชนีฯก็ไม่ปรับตัวลดลงถึงระดับเก่าที่ร้อยละ10
สำหรับ ปัจจัยที่กดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงวันนี้มีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่
--การประกาศปิดห้างในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งก็ทำให้กระทบต่อราคาหุ้นกลุ่มค้าปลีกในตลาดหุ้น,
--ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงกว่า 10% จากการที่กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก (โอเป็ก) ไม่สามารถตกลงลดกำลังการผลิตลงได้ และ
--การรายงานจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มพลังงาน,หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการปิดห้าง เช่น ค้าปลีกและกลุ่มซ่อมแซมบ้าน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่หายไปก็ส่งผลกระทบต่อบมจ.การท่าอากาศยาน (AOT) และหุ้นธุรกิจการเงินให้ปรับตัวลดลงด้วย
ส่วนบางอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงน้อย เช่น กลุ่มไอซีที,กลุ่มการแพทย์,กลุ่มบริโภค และกลุ่มธุรกิจประกัน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหลังจากการที่หน่วยงานต่างๆมีมาตรการออกมาเพื่อไม่ให้สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงกว่านี้ก็หวังว่าหลังจากนี้สถานการณ์ต่างๆจะปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนั้น ยังมองว่าตอนนี้สถานการณ์ตลาดหุ้นก็ขึ้นอยู่กับข่าวที่ออกมา ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐก็เริ่มใช้ยาแรง เช่น การปิดห้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งก็คาดว่าจะช่วยให้สถานการณ์ต่างๆน่าจะกลับมาได้เร็วขึ้น
ส่วนของความเป็นไปได้ในการปิดตลาดหลักทรัพย์ฯเหมือนที่ตลาดหุ้นจีนและฟิลิปปินส์ มองว่ายังไม่มีเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นปิดทำการ พร้อมย้ำว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯก็มีหลายมาตรการที่กำลังดูอยู่ และที่สำคัญตอนนี้คือการให้ข้อมูลในการประเมินสินทรัพย์ต่างๆให้กับนักลงทุนได้มีข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจลงทุนเพื่อเปรียบเทียบกับอนาคต นอกจากนี้ในส่วนของการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นก็ถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่มองอยู่ แต่เชื่อว่าการออกมาตรการต่างๆควรพิจารณาเป็นระดับๆไป