สถานการณ์ภัยแล้ง และน้ำทะเลหนุนสูงกระทบระบบน้ำประปา พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้น้ำประปาเค็ม ผู้ที่บริโภคน้ำประปาเป็นประจำอาจจะรับรู้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไปจากปกติในบางครั้ง โดยความเค็มดังกล่าวมาจากเกลือโซเดียมคลอไรด์หรือเกลือแกงที่ใช้ปรุงอาหาร ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดค่าแนะนำเพื่อความน่าดื่มและการยอมรับของผู้บริโภคไว้คือในน้ำประปา ควรมีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตรและคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ถ้าเจือปนในน้ำมากเกินไปจะทำให้น้ำมีรสกร่อยถึงเค็มได้ ซึ่งทางโภชนาการและการแพทย์แนะนำว่ามนุษย์ควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยปัจจุบันน้ำประปามีโซเดียมประมาณ 100–150 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนปกติจะดื่มน้ำประปาจนได้รับโซเดียมเกินกว่าที่กำหนด
ดังนั้น ในช่วงน้ำประปาเค็ม กลุ่มผู้ป่วยโรคไตที่รับบริการฟอกไตที่โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่งมีระบบการกรองแบบ Reverse Osmosis (RO) ที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ มั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย
สำหรับคนปกติทั่วไป การดื่มน้ำกร่อยอาจได้รับโซเดียมเพิ่มเติมจากปกติ จึงควรลดปริมาณสารปรุงแต่งอาหารที่มีความเค็มลง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส ผงปรุงรส งดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ มันฝรั่งทอด หรือเปลี่ยนเป็นใช้น้ำดื่มบรรจุขวด ปิดสนิทแทนจะดีกว่า และยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย