ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 5 ธันวาคม ที่ประชุมเห็นควรให้ประชาชนแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี เนื่องในโอกาสมหามงคล โดยหน่วยงานราชการต่างๆ ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ พร้อมใจกันแต่งกายด้วยเสื้อสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพร้อมเพรียงกัน ตลอดทั้งเดือนธันวาคมนี้
ภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ในการเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน โดยนายกรัฐมนตรีพบปะหารือกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคของไทยและผู้บริหารระดับสูงของเอกชนชั้นนำของไทยที่ลงทุนในจีน ส่วนการประชุมวานนี้ เป็นวันแรกของการประชุม แต่จะมีการแถลงผลการประชุมระดับผู้นำในวันนี้
บ่ายวันนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะเลื่อนการพิจารณาการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโครงการรับจำนำข้าวที่จะมีขึ้นวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ หรือไม่ เนื่องจากทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำหนังสือร้องขอถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ขอเลื่อนการประชุมเพื่อพิจารณาวาระถอดถอน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในโครงการจำนำข้าวในการประชุม สนช.วันที่ 12 พฤศจิกายน ออกไปก่อน ซึ่ง นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. ในฐานะโฆษกวิป สนช. กล่าวว่า จะเลื่อนไปวันใดก็ขึ้นอยู่กับมติวิป สนช. ไม่ใช่ 30 วันตามที่ทีมทนายร้องขอ ส่วนการพิจารณาคดีของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภารัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวันที่ 27 พฤศจิกายน โดยจะเป็นการพิจารณากำหนดวันและขั้นตอนในกระบวนการถอดถอน
ด้าน นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด (อสส.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฝ่าย อสส. พิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า ได้ให้อธิบดีคดีพิเศษรายงานด้วยวาจาให้ นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ทราบแล้ว แต่จะทำรายงานเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งหลังจากนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะยอมสอบพยานให้บางปาก เอกสารบางอย่าง ส่วนเรื่องอื่นๆ ยังตกลงกันไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับว่านายตระกูลจะสั่งการอย่างไรต่อไป
ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ จะมีวาระสำคัญ คือ การวางกรอบแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 14 พฤศจิกายน นี้
ด้านผลจากการจัดสัมมนาของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ ซึ่งที่ประชุมกลุ่มย่อยช่วงเช้าได้ ข้อสรุปไปในแนวทางเดียวกันว่า อนาคตใน 20 ปีข้างหน้าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งด้านป่าไม้ ที่ดิน น้ำจะต้องลดลง ซึ่งนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. กล่าวว่า เมื่อปฏิรูปเสร็จสิ้น เราจะได้ระบอบประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับสังคมไทย มีการเลือกตั้งที่สุจริตแล้วเป็นธรรม ได้กลไกป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ได้การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้กลไกของรัฐสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนได้อย่างทั่วถึง จากนั้นจึงจะมีการสรุปประเด็น ถ้าจำเป็นต้องออกเป็นกฎหมาย หากยกร่างเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือ พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ก็จะเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา แต่ถ้าหากเป็นเรื่องการจัดการองค์กรก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ แต่ทั้งหมดยังเป็นกรอบใหญ่ บางเรื่องต้องใช้เวลาเป็นแรมปี ต้องอาศัยผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันทำให้เกิดความสำเร็จ แต่ยืนยันว่า ภายในระยะเวลา 1 ปี จะได้แผนและแนวทางปฏิรูป รวมถึงในบางเรื่องจะเริ่มปฏิบัติได้ ส่วนที่เหลืออาจจะต้องมีการดำเนินการในระยะยาวต่อไป
ด้าน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ กล่าวว่า เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบกรอบงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคติดเชื้อทุกชนิดในระยะยาว แต่สำหรับงบประมาณเร่งด่วนในการรับมือโรคติดเชื้ออีโบลานั้น มีวงเงิน 187 ล้านบาท ซึ่งจะต้องให้สำนักงบประมาณกลั่นกรอง และเสนอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
และการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 พฤศจิกายน นี้ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเสนอ ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ให้เก็บภาษีจากผู้รับมรดกในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท อัตราภาษีเพดานร้อยละ 10 และเพื่อป้องการโอนทรัพย์สินเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีมรดก กระทรวงการคลังยังเสนอให้ ครม. เห็นชอบแก้กฎหมายประมวลรัษฎากร เรื่องภาษีการรับ การให้ ที่ผ่านกรณีพ่อแม่ให้สินทรัพย์ ลูกไม่ต้องเสียภาษี แต่หลังการแก้กฎหมายแล้ว พ่อแม่ให้ทรัพย์สินในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี ต้องเสียภาษีการรับการให้ในอัตราร้อยละ 5 แต่จะเก็บจริงเท่าไรขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สนช. แต่กระทรวงการคลังจะผลักดันให้เก็บอัตราร้อยละ 10 เพราะเป็นอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเก็บภาษีมรดกร้อยละ 40 และญี่ปุ่นเก็บร้อยละ 55
*-*