สดร. เผย คืน 14 ก.ย.นี้ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี

13 กันยายน 2562, 13:28น.


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page เผยแพร่บทความระบุว่าในคืนวันที่ 14 กันยายน นี้ ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือที่เรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” โดยจะเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในขนาดที่เล็กกว่าปกติเล็กน้อย


นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่าวันที่ 14 กันยายน 2562 ดวงจันทร์จะโคจรอยู่ในระยะไกลโลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 406,235 กิโลเมตร เวลาประมาณ 11.34 น. ตามเวลาประเทศไทย และในเวลากลางคืน จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงขนาดเล็กกว่าขนาดปกติประมาณร้อยละ 5.3 โดยในครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ที่ระยะห่างประมาณ 406,170 กิโลเมตร


ปกติแล้วดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่งจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก จุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร ส่วนจุดที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่โคจรเข้ามาใกล้โลกหรือไกลจากโลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์


...


facebook.com/NARITpage/
ข่าวทั้งหมด

X