ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ติดตามพายุปาบึก24ชม.กรมชลฯสั่งเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำทุกจุด

04 มกราคม 2562, 12:10น.


การเตรียมพร้อมรับมือพายุโซนร้อนปาบึก โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้พายุโซนร้อนปาบึก มิทิศทางความเร็ว 25 กิโลเมตร และความเร็วศูนย์กลางของพายุ 75 กิโลเมตร ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ของพายุโซนร้อน ยังไม่พัฒนาเป็นไต้ฝุ่น ซึ่งจะขึ้นฝั่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในช่วงเย็นนี้ ตามที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมาย โดยขณะนี้ ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ในเขตภาคใต้ทั้งหมดให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ รวมถึงทิศทางและความรุนแรงของพายุโซนร้อนปาบึก ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน สั่งการให้นำเครื่องจักร เครื่องมือไปติดตั้งทุกพื้นที่ เช่นเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถขุด รถแทรกเตอร์และรถบรรทุกขนาดใหญ่เพื่อลดผลกระทบจากอิทธิพลของพายุให้เหลือน้อยที่สุด โดยได้ติดตั้งและเตรียมความพร้อมเครื่องจักรไว้ในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ในช่วงฤดูฝน เช่น เครื่องสูบน้ำ 453 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 300 เครื่องและเครื่องจักรกลอื่นๆรวมทั้งสิ้น 1,106 หน่วย



กรมชลประทาน ได้สำรองอุปกรณ์เครื่องจักรกล จุดหลักอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สงขลาและนราธิวาส และยังมีจุดพักรองเครื่องจักรกลอีก 13 แห่งครอบคลุมทั้งภาคใต้ซึ่งพร้อมเคลื่อนย้ายไปสนับสนุนเพิ่มเติม รวมทั้งพร้อมที่จะระดมเพิ่มเติมมาจากทั่วประเทศได้ทันทีหากมีความจำเป็น



ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำและลำน้ำต่างๆ ไว้ล่วงหน้าแล้ว เตรียมรับมือสถานการณ์โดยได้พิจารณาจากสถิติน้ำไหลลงอ่าง ช่วงเกิดพายุและ การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา มาเปรียบเทียบ และยังได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ที่ดูแลอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ให้พร่องน้ำในอ่างและลำน้ำท้ายอ่างเพื่อให้สามารถระบายน้ำจากฝนที่ตกลงมาได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น



นายทองเปลว เปิดเผยว่า จากการจัดทำแผนเผชิญเหตุล่วงหน้าพบว่า จังหวัดภาคใต้มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและดินโคลนถล่ม 1,031 แห่ง พื้นที่เฝ้าระวังในเขตชลประทานมี 75 จุด  ขณะนี้ได้มีการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำครบทุกจุด ให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด



สำหรับเส้นทางที่พายุผ่านทำให้มีปริมาณน้ำฝนมาก ประเมินไว้ว่าในช่วงเวลานี้จะมีน้ำมากคาดการณ์ว่าอาจมีท่วม 3-5 วัน  นอกจากนี้ได้เน้นย้ำในทุกโครงการของกรมชลประทานให้ตรวจสอบอาคารและระบบชลประทาน ให้พร้อมใช้งาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังได้นำรถกระจายเสียงส่งสัญญาณวิทยุสื่อสารประจำพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานในการสื่อสารด้วยวิทยุสื่อสารระยะไกลที่จะช่วยให้การปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกลมีความสะดวก รวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ รวมถึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ประสานงานบูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชน ให้รับทราบอย่างทั่วถึง



ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X