ชุมพร สอบพระ คดีเงินทอนวัด/ทีมกม.ปชป.เร่งรัฐบังคับคดียิ่งลักษณ์/สนช.ถกปัญหาอูเบอร์

23 มิถุนายน 2560, 12:19น.


ข่าวเที่ยงครึ่งวัน 12.30 น.



++++ก่อนหารือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาการใช้งบประมาณบูรณปฏิสังขรณ์วัด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เป็นการเชิญมาพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสอบถามปัญหาต่างๆ หลังปัญหาเรื่องเงินอุดหนุนวัดล่วงเลยมานานถึง 3 เดือน โดยจะเปิดโอกาสให้หน่วยงานชี้แจงรายละเอียดรอบด้าน และอาจมีคำแนะนำเพิ่มเติม ส่วนจะต้องแก้ไข กฎ ระเบียบ หรือ พ.ร.บ.สงฆ์ เกี่ยวกับเงินบริจาคและทรัพย์สินของวัดด้วยหรือไม่ ยังต้องรอหารือในรายละเอียดก่อน เช่นเดียวกับงบส่วนอื่นที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อนุมัติไปก่อนหน้านี้ขณะที่พันตำรวจโทพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักพุทธหรือ พ.ศ กล่าวว่า การหารือในวันนี้เป็นการติดตามหารือในเรื่องของคดีเงินอุดหนุนวัดและการบริหารงานภายในสำนักพุทธ พร้อมรับนโยบายในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้สำนักพุทธนำไปแก้ไขเรื่องดังกล่าวต่อไป ขณะนี้เรื่องของการพักราชการ ยังทำไม่ได้ในขณะนี้ตามระเบียบของราชการที่หากไม่เข้าเงื่อนไขจึงพักงานไม่ได้ แต่จะดำเนินงานไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมและเกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างๆ และหากมีตั้งกรรมการสอบสวนจะทำการพิจารณาต่อไป ในเรื่องแนวทางในเรื่องการแก้ไขปัญหาป้องกันการทุจริตขณะนี้มีมาตราการตรวจสอบระบบบัญชี /ระบบตรวจสอบควบคุมรายงาน ก่อนรายงาน ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากอยู่แล้ว



+++สภ.สวี จ.ชุมพร พ.ต.อ.อาภากร โกมลสุทธิ ผกก.5 บก.ปปป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภาค 15 สงขลา และตำรวจ สภ.สวี ได้ประชุมร่วมกันเพื่อติดตามสอบสวนรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีทุจริตเงินงบประมาณแผ่นดินในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดทั่วประเทศ ของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และวัดต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต "เงินทอนวัด" ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น หลังประชุมวางแผนเสร็จ พ.ต.อ.อาภากร ได้สั่งการให้ทีมงานประสานงานนิมนต์พระสงฆ์ใน อ.สวี จาก 3 วัด คือ พระอธิการทวี ธัมทินโน เจ้าอาวาสวัดเล็บกระรอก พระปลัดประมวลฐิตธัมโม เจ้าอาวาสวัดดอนสะท้อน และ พระครูนิวิฐศิลวัตร เจ้าคณะตำบลด่านสวี เจ้าอาวาสวัดท้องตมใหญ่ มาสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ได้แยกสอบปากคำ โดยพระสงฆ์ทั้ง 3 รูป ทุกรูปอยู่ในอาการเครียดและวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด ก่อนระบุว่าได้รับเงินอุดหนุนจากสำนักพุทธฯในการบูรณปฏิสังขรณ์วัด จำนวน 6,600,000 บาท เฉลี่ยวัดละ 2 ล้านบาท เมื่อปลายปี 2558 จนถึงต้นปี 2559 มีการโอนเงินเข้าบัญชีวัดในเดือน ม.ค.59 และให้โอนเงินให้กับแก็งเงินทอนวัดละ 1,600,000 บาท พร้อมทั้งเสนอให้เงินส่วนตัวให้เจ้าอาวาส วัดละ 400,000 บาท แต่วัดจำนวน 2 วัด ที่เจ้าอาวาสไม่ยอมรับเงินดังกล่าว พร้อมทั้งออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริง จนนำมาสู่การสอบสวนในวันนี้.



+++นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายกล่าวถึงการบังคับคดีในคดีจำนำข้าวว่า ไม่ทราบจะไปทำอะไรที่ไหน หยุดไว้ หาทรัพย์ไม่เจอก็หยุดไว้ก่อนนั้นว่า ตนเชื่อว่า นายวิษณุ ทราบข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดี และที่ให้สัมภาษณ์ในลักษณะนั้นคงเข้าใจหลักในการบังคับคดีคลาดเคลื่อนไป คดีนี้ประเทศเป็นผู้เสียหาย รัฐถือได้ว่าเป็นเจ้าหนี้ ที่จะต้องทำทุกวิธีทางเพื่อเรียกเงินของแผ่นดินคืนมา เมื่อจะบังคับคดีก็ต้องมีการสืบแสะว่ามีทรัพย์อะไรบ้าง ตรวจดูที่ดิน ตรวจดูบ้าน ตรวจดูยานพาหนะ ตรวจดูบัญชีเงินฝาก ตรวจดูว่ามีใครคนอื่นที่ถือทรัพย์สินต่างๆแทนไว้ด้วยหรือไม่ กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นแค่เปิดดูบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็รู้แล้วว่ามีทรัพย์สินอะไรบ้าง ทรัพย์สินที่ยื่นไว้ล่าสุดกรณีพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี วันที่ 8 ธ.ค. 57 รวม 586 ล้านบาท เกือบ 600 ล้านบาท นี่หรือที่หาไม่เจอ คดีนี้อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ทำเท่านั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. น่าจะส่งบัญชีทรัพย์สินของคุณยิ่งลักษณ์ไปให้นายวิษณุดูประกอบจะได้ทราบข้อเท็จจริงา ที่สำคัญรัฐบาลไม่เคยใช้มาตรการอายัดทรัพย์สินไว้ก่อนมาใช้กับกรณีนี้เลย คือ กล้าหรือไม่ที่จะแจ้งไปยังธนาคาร แจ้งไปยังกรมที่ดิน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ห้ามทำธุรกรรม หรือนิติกรรมในเรื่องทรัพย์สินก่อนเพราะอยู่ในระหว่างการบังคับคดี



+++สำนักงานศาลยุติธรรม โดยสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ จัดเสวนาเรื่อง "พยานหลักฐานจากกล้อง “ความจริงหรือภาพลวงตา"  นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะประธานเปิดการเสวนา กล่าวว่า ความสำคัญของหลักฐานภาพจากกล้อง โดยขั้นตอนการหาพยานหลักฐานในชั้นตำรวจและอัยการถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและการมีคำพิพากษาของศาลอย่างมาก โดยเฉพาะกล้องวงจรปิด หรือภาพจากสื่อออนไลน์ต่างๆ เชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการใช้เป็นพยานหลักฐานทางคดีในอนาคต



+++นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า การใช้ภาพถ่ายจากกล้องในการสืบสวนในชั้นตำรวจหรือการพิจารณาในชั้นศาล ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณา เช่น ความคมชัดและความต่อเนื่องของภาพ รวมทั้งภาพที่อาจมีการตัดต่อ โดยเป็นข้อพิจารณาว่าหลักฐานภาพเหล่านี้สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามแม้ภาพถ่ายจากกล้องเป็นหลักฐานที่เริ่มมีความสำคัญในการพิจารณาคดีอาญา แต่พยานบุคคลและหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์อื่นๆ ก็ยังมีความสำคัญ ต้องนำมาใช้ประกอบกัน



+++การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณากระทู้ถามทั่วไป เรื่องปัญหาการให้บริการรถยนต์ป้ายดำผ่านแอปพลิเคชั่น Uber โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นผู้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลว่า กระทรวงคมนาคมจะมีนโยบายการให้บริการ Uber ให้ถูกกฎหมายอย่างไร และมีมาตรการป้องกันการกระทบกระทั่ง หรือความขัดแย้งระหว่างผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะกับผู้ขับรถ Uber อย่างไร  เมื่อ Uber ให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2557 และได้รับความนิยม จากสถิติในปี 2558 พบว่า มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 4,100 ครั้ง และปี 2559 มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 4,500 ครั้ง เนื่องจากจุดเด่นของ Uber ที่ประชาชนพึงพอใจคือ บริการดี ตรวจสอบราคาได้ ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร และมีระบบตรวจสอบคนขับ แต่จุดอ่อน คือ ผิดกฎหมาย ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ คนขับไม่มีใบขับขี่สาธารณะ ปรากฏเป็นข่าวการคัดค้านของแท็กซี่สาธารณะ จึงเป็นห่วงว่าจะเกิดเหตุประท้วงปิดถนนเหมือนในต่างประเทศ



+++นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้จัดการประชุมระหว่างผู้แทนของกระทรวง ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ดูแลเรื่องจัดระเบียบรถสาธารณะและตัวแทนของ Uber เพื่อหาทางออกร่วมกัน  คาดว่า ภายใน 4-5 เดือนจะได้ข้อสรุป และจะเร่งทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้ถูกกฎหมายและเพื่อลดความขัดแย้ง รวมทั้งมีทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการด้วย  ยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหา ซึ่งจะต้องศึกษาอย่างรอบคอบ  ส่วนมาตรการป้องกันการกระทบกระทั่งหรือความขัดแย้งระหว่างผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะกับผู้ขับรถ Uber กระทรวงคมนาคมร่วมกับมณฑลทหารบกที่ 11(มทบ.11) ทำความเข้าใจกับผู้รับจ้างสาธารณะไม่ให้ต่อต้านที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบและปรับมาตรฐานการให้บริการของรถยนต์รับจ้างสาธารณะ รณรงค์ให้ประชาชนเรียกใช้บริการรถยนต์รับจ้างสาธารณะถูกกฎหมายผ่านศูนย์แท็กซี่ OK Center เพิ่มทางเลือกให้บริการประชาชน กระทรวงคมนาคม ยังได้ออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการให้บริการแท็กซี่ แก้ปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร หรือขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนด รวมทั้งพนักงานขับรถต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ คาดว่า กฎกระทรวงน่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้

ข่าวทั้งหมด

X