การลงพื้นที่ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อช่วงเช้าวันนี้ได้เข้าร่วมหารือ ติดตามดูงานกับพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินงานการจัดผังที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดินของสำนักงานการ ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่ยึดคืนจากการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 1,263 ไร่ ที่ ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งพื้นที่นี้ก็เป็นพื้นที่นำร่องที่แรกที่รัฐบาลดำเนินการฟื้นฟู นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ขั้นตอนการดำเนินงานอยู่ในช่วงฟื้นฟูสภาพพื้นที่ กรมชลประทานได้รับมอบหมายให้ดูแลในเรื่องระบบการกักเก็บน้ำ เนื่องจากพบว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ เนื่องจากเป็นดินทราย จำเป็นจะต้องใช้เทคนิคพิเศษ คือ การปูยางก้นบ่อ เพื่อลดการรั่วซึมของน้ำ โดยสิ่งที่กรมชลประทานต้องคิดคือ จะทำอย่างไรให้สามารถกักเก็บน้ำที่มีมากในฤดูฝนไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะต้องมีการสร้างฝาย แต่ลำน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ดังกล่าวนั้นกลับอยู่ในพื้นที่สูง ทำให้น้ำไม่ไหลเข้าสู่พื้นที่นั้น จึงจะส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรณีวิทยา มาศึกษาว่าจะหาทางลดการรั่วซึมได้อย่างไรบ้าง โดยมีการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กำแพงแสน) ให้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาโดยใช้เทคนิคพิเศษ ขณะเดียวกันทางบริษัทปูนซีเมนส์ไทย (SCG) เสนอให้มีการใช้พลังงานเเสงอาทิตย์ในการสูบน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ในพื้นที่อื่นด้วย

นายสมเกียรติ ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดระยะเวลาดำเนินการให้เสร็จภายใน 4 เดือนข้างหน้านี้ โดยกรมชลประทานจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเร่งดำเนินงาน โดยยอมรับว่าที่ดินในจังหวัดกาญจนบุรีเหมาะกับการเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งออก เช่น แพะ หรือพืชระยะสั้นมากที่สุด นอกจากจะฟื้นฟูที่ดิน ส.ป.ก. ที่ยึดมาจากผู้ที่ครอบครองโดยมิชอบที่จังหวัดกาญจนบุรีแล้ว จะลงพื้นที่ฟื้นฟูที่ดินส.ป.ก. ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครราชสีมาด้วย ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างทางกายภาพ ถือเป็นเรื่องยากมากในการแก้ไขปัญหา แต่ด้วยนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชนให้มีแนวทางการทำมาหากิน จึงต้องเร่งดำเนินงาน
รองอธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า แม้ว่าจังหวัดกาญจนบุรีจะเป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน แต่มีหลายพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก หลายคนอาจคิดว่ามีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านจะเพียงพอ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ โดยจังหวัดกาญจนบุรีก็มีเขื่อนขนาดใหญ่ แต่เขื่อนดังกล่าวเป็นเขื่อนที่จัดส่งน้ำให้กับคนที่อยู่ในกรุงเทพ เป็นเขื่อนที่ผลิตน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ตามจะต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะต้องวิธีการประหยัดน้ำ