การเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนส.ค. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขอยู่ที่ 73.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.ค.ที่ 72.5 ถือว่าเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มั่นใจต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องได้ ขณะเดียวกัน สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อภาคเกษตรและภาคครัวเรือนต่างจังหวัดเริ่มดีขึ้น ประชาชน คาดหวังว่ารัฐบาลจะเน้นการใช้จ่ายเพื่อการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คงเป้าหมายจีดีพีที่ร้อยละ 3.3-3.5 และหากรัฐบาลยังต้องการให้เศรษฐกิจไทยโตได้ถึงร้อยละ 3.3 จะต้องเร่งการเบิกจ่าย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เงินหมุนเข้าสู่ระบบ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยืนยันว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่า เป็นไปช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้น จึงเกิดผลกระทบทางจิตวิทยา ไม่กล้าที่จะใช้จ่ายเต็มที่ ทำให้กำลังซื้อไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นต่อเนื่อง เดือนส.ค.อยู่ที่ 62.2 จากเดือนก่อนที่ 61.4 รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต 6 เดือนข้างหน้าก็ดีขึ้นเช่นเดียวกันจาก 74.1 มาอยู่ที่ 75.3 เพราะผู้บริโภคยังหวังว่ารัฐบาลจะเร่งการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แต่มีข้อสังเกตว่า แม้ประชาชนเริ่มใช้จ่ายมากขึ้น แต่ยังเป็นไปด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะภาคแรงงาน จากการส่งออกที่ชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้ ทำให้เกิดผลกระทบทางจิตวิทยาว่า ในภาคการผลิต อาจจะไม่มีการทำงานล่วงเวลา (โอที) ลดการทำงานลง ไปจนถึงมีการปลดการจ้างงาน จึงกังวลว่าจะตกงานในอนาคต สะท้อนได้จากอัตราการจ้างงานที่ลดลงจาก 56.1 เหลือ 55.5 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า เป็นเพียงการจ้างงานที่ช้าลงเท่านั้น ไม่ใช่การว่างงาน เพราะการส่งออกที่น้อยลง และการปรับโครงสร้างทางการผลิต และยังไม่มีสัญญาณจากภาคเอกชนในการที่จะปลดคนงาน
สำหรับค่าเงินบาท ภาคเอกชนต้องการให้อยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะช่วยให้มีแต้มต่อในการแข่งขันทางการค้ากับประเทศคู่แข่งได้ โดยเฉพาะเวียดนาม จากปัจจุบันที่ 34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกัน เชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือนก.ย. แต่จะเริ่มปรับขึ้นหลังจากที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯแล้ว ซึ่งจะมีผลทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.5-35.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
แฟ้มภาพ