ก่อนการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. กล่าวถึงการให้กกต.ชี้แจงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.) ว่า ให้กกต.ชี้แจงวัตถุประสงค์ของร่างเอง เพราะหากอ่านจากร่างเองอาจเข้าใจผิด ในส่วนตัวมองว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปคือการตั้งพรรคการเมืองที่จะตั้งได้ยากขึ้น ดำรงอยู่ยากขึ้น และการยุบพรรคยากขึ้น ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย นายมีชัย เห็นว่า พรรคการเมืองไม่ควรตั้งง่ายหรือยากเกินไปต้องมีความพอดี ถ้าตั้งยากจนเกินไปก็จะทำให้พรรคการเมืองใหม่เข้าสู่ระบบพรรคการเมืองยากขึ้น หากง่ายเกินไปก็จะมีผู้ฉวยโอกาสตั้งพรรครับเงินสนับสนุนจากกกต. ต้องหารือกับกกต.เพื่อให้เป็นสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา
ส่วนข้อเสนอลงโทษรัฐบาลที่ไม่สามารถทำตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาได้หมด ประธานกรธ.กล่าวว่า คงไม่ไปไกลขนาดนั้น ถ้ามีการลงโทษ ทุกรัฐบาลก็จะลงกันหมด เพราะทุกรัฐบาลก็จะพูดไปเรื่อยๆ เช่น กรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เสนอนโยบายต่อประชาชน มองว่ามีตั้งแต่เรื่องไม่จิ้มฟันยันเรือรบ อย่างไรก็ตาม นายมีชัย ขอกกต.อย่ากังวลเรื่องการศึกษาระบบการเลือกตั้งของประเทศอินเดีย เพราะไม่ได้มีการลดจำนวนกกต.ลง เพียงแค่ต้องการศึกษาระบบการเลือกในหลายประเทศดูเท่านั้น นอกจากนี้ นายมีชัย ปฏิเสธกระเเสข่าวว่ากรธ.ไปศึกษาดูงานกกต.ที่ประเทศอินเดีย แต่เป็นการให้ไปศึกษาข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์และข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเดินทางไป
นายมีชัย กล่าวถึง การชี้แจงการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในประเด็นคำถามพ่วง ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องไม่ต้องส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเพราะศาลไม่ได้ร้องขอ และก่อนหน้านี้ชี้แจงไปหมดแล้ว ส่วนกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เตรียมส่งเอกสารชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงยืนยันในหลักการที่ให้ส.ว.มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี นายมีชัย กล่าวว่า ไม่รู้สึกกังวล ทุกอย่างเป็นไปตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนหากขยายอำนาจให้ส.ว.มีอำนาจเสนอชื่อจะนำไปสู่วิกฤติการเมืองหรือไม่ ตอบแทนศาลไม่ได้ รอให้ศาลวินิจฉัยก่อน
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี