เปิดเรือนจำอุทัยธานี เรือนจำต้นแบบ แยกผู้ต้องขังข้ามเพศ สร้างอาชีพ เริ่มต้นชีวิต

06 กันยายน 2559, 14:57น.


หลังเรือนจำจังหวัดอุทัยธานีผ่านเกณฑ์การประเมินเรือนจำตามข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง(The Bangkok Rules) หรือเรือนจำต้นแบบ วันนี้นายปฏิคม วงษ์สุวรรณ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมนายนัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษากรมราชทัณฑ์และ คณะที่ปรึกษากรมราชทัณฑ์  ได้พาสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของเรือนจำอุทัยธานีในด้านต่างๆ เช่น โปรแกรมการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดทางเพศ ห้องสมุดเปลี่ยนชีวิตและแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังลักษณะพิเศษเช่น ผู้ต้องขังชรา นายปฏิคม เปิดเผยว่า สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย(สธท.) การร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ สำรวจความพร้อมของเรือนจำให้ เข้าเกณฑ์โครงการเรือนจำต้นแบบ  ซึ่งขณะนี้มีเรือนจำและทัณฑสถานเข้าร่วมโครงการ คือ เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเรือนจำจังหวัดอุทัยธานีและทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ซึ่งจากการทำประเมินพบว่า เรือนจำจังหวัดอุทัยธานีได้รับคัดเลือกให้เป็นเรือนจำต้นแบบ ด้วยคะแนนร้อยละ 94.5  





นายนัทธี กล่าวว่า เรือนจำจังหวัดอุทัยธานีมีการจัดทำห้องสมุดเปลี่ยนชีวิตที่ผู้ต้องขังชายและหญิงสามารถสลับกันใช้บริการได้ อีกทั้งยังเป็นห้องสมุดที่ต่างจากห้องสมุดทั่วไป คือ นอกจากจะมีหนังสือตามระบบแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ตัวขังกลับคืนสู่สังคม ขณะเดียวกันห้องสมุดเปลี่ยนชีวิตได้ ออกแบบให้มีการจัดหมวดหมู่การเรียนรู้เป็นต้นไม้ 5 ต้น แต่ละต้นจะเป็นเรื่องราวที่จำเป็นต่อผู้ต้องขังในการกลับเข้าสู่สังคม ได้แก่ ต้นครอบครัว, ต้นอาชีพการงาน,ต้นทักษะชีวิต สุขภาพ อบายมุข ความพอเพียง, ต้นสมาธิและต้นปัญญา, ต้นเพื่อนและสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย และที่สำคัญห้องสมุดเปลี่ยนชีวิต ไม่ใช่เฉพาะสถานที่สำหรับอ่านหนังสืออย่างเดียว แต่เป็นสถานที่จัดกิจกรรมในการแก้ไขพฤติกรรมต่างๆ เช่น โปรแกรมผู้กระทำผิดทางเพศ เช่น ผู้ล่อลวงข่มขืน และโปรแกรมผู้ต้องขังข้ามเพศ เช่นผู้ต้องขังเพศที่สาม ซึ่งทั้ง2โปรแกรมนี้ก็ใช้ห้องสมุดในการทำความเข้าใจและควบคุมบริการทางเพศ โดยอาศัยต้นไม้ต่างๆสร้างความเข้าใจและควบคุมพฤติกรรมทางเพศ 





ขณะนี้ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานียังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำโปรแกรมสำหรับผู้ต้องขังข้ามเพศ  หลังจากกรมราชทัณฑ์พบปัญหาการไม่มีสถานที่ควบคุมกลุ่มผู้ต้องขังข้ามเพศโดยเฉพาะ เนื่องจากกลุ่มนี้มักมีพฤติกรรมขายบริการให้กับผู้ต้องขังภายในแดนเดียวกัน ทางกรมราชทัณฑ์ จึงมีแนวทางแก้ไขที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังข้ามเพศ เริ่มต้นจากการจำแนกลักษณะตามคดีเพื่อเข้าโปรแกรมพื้นฐานปรับทัศนคติต่อสังคม จากนั้นเข้าสู่โปรแกรมเฉพาะด้านต่างๆ เช่น การฝึกอาชีพที่สอดคล้องกับเพศ  และกระบวนการสุดท้าย คือ การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวก็จะมีการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ต้องขังคิดว่า แม้จะเคยกระทำผิดมาแล้ว แต่เมื่อพ้นโทษสามารถประกอบอาชีพสุจริตได้





นอกจากห้องสมุดเปลี่ยนชีวิตแล้วทางเรือนจำจังหวัดอุทัยธานียังมีการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังลักษณะพิเศษ เช่น ผู้ต้องขังชรา ทางเรือนจำก็มีการดูแลด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ ด้วยการให้ผู้ต้องขังสูงอายุได้ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ เพื่อผ่อนคลาย  ส่วนที่อยู่อาศัยมีการแยกนอนในที่ที่มีอากาศถ่ายเทและอยู่ใกล้สถานพยาบาล



จากการสอบถามผู้ต้องขังหญิงในคดีค้ายาเสพติดรายหนึ่ง เปิดเผยว่า รู้สึกพึงพอใจที่มีการให้ผู้ต้องขังฝึกอาชีพ เพราะส่งผลดีต่อสภาพจิตใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งเมื่อได้รับการพ้นโทษผู้ต้องขังก็จะมีความรู้ติดตัว อย่างเช่นทุกวันนี้ตนเองฝึกอาชีพรีดผ้าและคิดว่าหากได้รับการพ้นโทษ จะเปิดร้านซักรีดเป็นของตนเอง

ข่าวทั้งหมด

X