การกวดขันจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะเพื่อความปลอดภัย และอำนวยสะดวกการบริการประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยว ที่สนามบินสุวรรณภูมิ วันนี้เจ้าหน้าที่จากกรมการขนส่งทางบก ลงพื้นที่เพื่อตรวจจุดให้บริการรถโดยสารสาธารณะบริเวณ ชั้น4 ประตู 9 ของสนามบินสุวรรณภูมิ
นายสุริยา สังข์รุ่ง เจ้าพนักงานขนส่งชำนาญงาน กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า การจัดระเบียบรถโดยสาสาธารณะในภาพรวมดำเนินงานภายใต้นโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ในจุดที่มีการจราจร หนาแน่น จนกีดขวาง โดยทำหน้าที่ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก ออกปฏิบัติงานทุกวัน ตามจุดต่างๆ เช่นจุดที่มีผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะจำนวนมาก เช่น ตามห้างสรรพสินค้า ตามสถานีขนส่งผู้โดยสารต่างๆ ซึ่งงานหลักๆจะดูด้าน เรื่องการต่อภาษีรถ ป้ายทะเบียนรถต้องไม่เป็นป้ายแดง ความปลอดภัยของตัวรถทั้งภายนอกและภายใน ดูการให้บริการเพื่อให้ได้ตามที่มาตรฐานกำหนด ซึ่งภาพรวมการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนมีการร้องเรียนน้อยลง และมีการชมเชยผ่านหมายเลขสายด่วน 1584 ว่าได้รับการบริการที่สะดวกมากขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ลงไปดูแล รวมถึงลดการกระทำความผิดได้มากขึ้น
โดยภาพรวมการทำงานในวันนี้ ไม่มีการร้องเรียนถึงเรื่องการปฏิเสธผู้โดยสาร แต่ยังมีการเปรียบเทียบปรับในเรื่องของการใช้รถป้ายแดง 1 ราย ปรับ 500 บาท การแต่งกายไม่สุภาพ จำนวน 3 ปรับ200 บาท ไม่แสดงบัตรหน้ารถ 2 ราย 200 บาท รวมถึงเปลี่ยนขนาดยางรถเล็กกว่าที่กฎหมายกำหนด 1ราย ปรับ 400 บาท ไม่ตรวจรอบมิเตอร์ 1 คัน จึงถูกออกใบสั่ง
ส่วนการอำนวยความสะดวกประชาชน ผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะ นายสุริยา ระบุว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกเริ่มออกตรวจสอบกวดขัน ตามจุดบริการรถโดยสารสาธารณะตามจุดต่างๆ ซึ่งจุดที่ลงตรวจวันนี้ เป็นจุดที่ให้แท๊กซี่จอดส่งผู้โดยสารเพียงอย่างเดียว เพราะจะมีจุดบริการแท๊กซี่อยู่บริเวณชั้น 1 อยู่แล้ว โดยจะเน้นดูที่ภาษีรถต้องไม่ขาด และจะต้องนำรถเข้าตรวจรอบมิเตอร์ตามกำหนดปีละ2 ครั้ง สำหรับรถที่อายุไม่เกิน 7 ปี หากอายุเกิน 7ปี ต้องตรวจทุก 4 เดือน วงล้อต้องไม่เล็กกว่ามาตรฐาน เพราะจะส่งผลต่อมิเตอร์ ทำให้มิเตอร์หมุนเร็วกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้จะต้องประเมินความพร้อมทั้งตัวรถ ผู้ขับขี่ การแต่งกายจะต้องสุภาพ รถจะต้องไม่ติดฟิลม์กันแดด หรือนำม่านมาปิดบังบริเวณกระจกรถ ต้องมองเห็นภายในรถอย่างชัดเจน
กรมการขนส่งทางบก ได้ฝากถึงผู้ที่ใช้บริการรถแท๊กซี่หรือรถโดยสารประเภทอื่นๆเป็นประจำ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการติดตามตัวหากเกิดเหตุฉุกเฉินหรืออาชญกรรม ให้จดจำทะเบียนรถเป็นหลัก และบัตรประจำตัวผู้ขับขี่ที่ติดอยู่หน้ารถ ว่าตรงกับคนขับหรือไม่ เพราะจะต้องมีการตรวจสอบประวัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อน จึงจะสามารถขอทำใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกได้
ส่วนมาตรการควบคุมความปลอดภัยเบื้องต้นเจ้าของอู่จะต้องแจ้งประวัติของผู้ขับให้กับกรมการขนส่งทราบ โดยจะต้องแจ้งชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ที่สามารถติดต่อได้ หากมีเหตุฉุกเฉิน สำหรับผู้ที่กระทำความผิดซ้ำ 2 ครั้งภายใน1 เดือนจะต้องมีการปรับ ส่งเข้าอบรม โดยจะมีการบันทึกประวัติพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาติ