ในวันนี้ นายอะคิโอะ มิมุระ (Mr. Akio Mimura) ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Japan Chamber of Commerce and Industry: JCCI) และผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชนญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ตลาดวัฒนธรรม : ทุนวัฒนธรรมสร้างชาติ ตลาดวัฒนธรรมสร้างสุข” ที่ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ข้างทำเนียบรัฐบาล
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ที่กระทรวงวัฒนธรรม
นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับและคณะเข้าเยี่ยมคารวะพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายต่อสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)
ส่วนที่รัฐสภา ในวันนี้มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เพื่อเตรียมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับกำหนดแนวทางสำหรับชี้แจงต่อที่ประชุมแม่น้ำ 3 สาย ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้
ซึ่งหลังจากที่มีการเปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก 270 มาตรา ก็มีเสียงวิจารณ์คัดค้านจากกลุ่มพรรคการเมือง ทั้งนี้พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ขอให้กำลังใจและขอบคุณทุกองค์กรที่ทำงานร่วมกันอย่างหนัก ทั้งประธาน กรธ., สนช. และ สปท. เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ในการวางระบบและกติกาของประเทศ ลุล่วงไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ถือเป็นความเสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างยิ่ง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับแรงเสียดสีและแรงกดดันจากอดีตนักการเมือง และฝ่ายที่อาจจะเสียผลประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) มอบข้อเสนอของสมัชชาพัฒนาการเมืองแก่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง (สปท.) ซึ่งนายเสรีกล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะประชุมพิจารณาเนื้อหาของ รธน. ร่างแรก ในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อดูรายละเอียดและประเด็นที่เคยเสนอไปยัง กรธ. ซึ่งมีหลายส่วนต้องหารือเพิ่มเติม อาทิ อำนาจที่มาทางการเมือง การจัดสรรอำนาจ รูปแบบการเลือกตั้ง และการนับคะแนน
นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือน กุมภาพันธ์นี้ สทบ.จะสรุปโครงการที่กองทุนหมู่บ้านเสนอขอจัดสรรในโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดสรรงบประมาณ 35,000 ล้านบาท จากนั้นจะจัดสรรงบให้หมู่บ้านละ 5 แสนบาทต่อไป โดยในระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม มีการหารือกับตัวแทนของกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ และชี้แจงแนวทางการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณที่ซ้ำซ้อนกับงบในโครงการตำบลละ 5 ล้านบาทของกระทรวงมหาดไทย
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือไมโครเอสเอ็มอี ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่เป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า มาตรการที่จะเสนอ ครม.นั้นมีทั้งมาตรการที่ ธ.ก.ส.ดำเนินการได้เอง และมาตรการที่รัฐต้องสนับสนุนเรื่องดอกเบี้ย ในอัตราประมาณร้อยละ 3
จากการที่มีพื้นที่ ที่ประสบภัยแล้ง 37 จังหวัด รวม 42 ล้าน 9 แสน 8 หมื่นไร่ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร 1 ล้าน 9 แสน 3 หมื่นคน ในจำนวนนี้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส.ประมาณ 1 ล้านครัวเรือน ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส.มีมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม เห็นชอบความช่วยเหลือเกษตรกร 3 โครงการ รวมวงเงิน 9 หมื่น 3 พันล้านบาท
กระทรวงการคลังจัดทำแผนแม่บทการคลังเพื่อสังคม เพื่อเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณา โดยแนวคิดหลักคือการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ ทั้งการสร้างความมั่นคงในชีวิตของประชาชน สร้างรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างสังคมพึ่งพาตนเอง เพื่อความยั่งยืนในอนาคต และการส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการดำเนินงานเพื่อสังคม ผ่านโครงการประชาชนรัฐ ที่เป็นการร่วมกันแก้ปัญหาระหว่างประชาชน เอกชน และรัฐบาล ผลักดันให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ที่อยู่อาศัย รู้จักพึ่งพาตนเอง และไม่มีภาระหนี้สิน รวมทั้งมีหลักประกันในยามชรา โดยจะมีการพัฒนาทักษะและความรู้ ทั้งการประกอบอาชีพและองค์ความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐาน ผ่านหน่วยงานรัฐและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
*-*