การเปิดเผยสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกใช้เวลาทำงานทั้งหมด 170 วัน มี 270 มาตรา 15 หมวด ตั้งแต่บททั่วไปถึงบทเฉพาะกาล โดยยึดกรอบตามมาตรา 35 แห่ง รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ใน 10 ข้อ อาทิ กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกลไกในการกํากับและควบคุมให้การใช้อํานาจรัฐเป็นไปเพื่อประโยชน์ , กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบไม่ให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทําการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้ง ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด
นายมีชัย ระบุว่า รธน. ฉบันนี้เน้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง และจะไม่ให้การเมืองเป็นที่ฟอกตัวของบุคคลที่เคยกระทำความผิด คือ ถ้าศาลตัดสินว่าถูกตัดสินว่าทำผิด คนเหล่านั้นจะกลับมาเป็น ส.ส. ไม่ได้ เช่น ถูกตัดสินมีความผิดฐาน เป็นเจ้ามือการพนัน พอกเงิน ค้ายาเสพติด รวมถึงฉ้อโกงประชาชน ซึ่งถ้า รธน.ยังอยู่ สิ่งป้องกันปัญหาเหล่านี้ก็จะคงอยู่
ส่วนการมีส่วนร่วมของประเทศชาติและประชาชน นายมีชัย ยืนยันว่า ตลอดเวลาการร่างรัฐธรรมนูญได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย ในทุกรูปแบบ ขณะเดียวกันจะมีการรับฟังความคิดจากทุกฝ่ายอีกครั้ง คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ,คณะรัฐมนตรี (ครม.) ,สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ,สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประชนชนทั่วประเทศภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเน้นมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง และทำให้การเมืองไม่ใช่กรอบป้องกันตัวเมื่อทำผิด
สำหรับ กลไกการใช้อำนาจรัฐ นายมีชัย ระบุว่า ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ครม. ที่จะต้องดำเนินการบางอย่าง พร้อมกันนี้ยืนยันว่า ไม่ได้มีการเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระจนเกินไป เพียงแต่กำหนดกระบวนการไว้ให้ชัดเจนว่า เรื่องใดจะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ ซึ่งหากพบว่าเป็นลักษณะต้องห้ามก็จะพ้นจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติ
ในประเด็นที่ถูกระบุว่าไม่ยึดโยงกับประชาชนนั้น นายมีชัย ชี้แจงว่าองค์กรอิสระต้องเป็นอิสระ ไม่ใช่ลงคะแนนเอาเสียงข้างมาก ในสากลไม่ว่าประธานาธิบดี หรือ นายกรัฐมนตรี ทำผิดก็ต้องไปที่ศาล ซึ่งเป็นไปตามกลไกปกติ ซึ่งประชาชนในทุกประเทศก็ไม่ได้เชื่อมโยงประชาชนเป็นคนละเรื่องกับการเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงองค์กรอิสระทุกองค์ก็จะถูกตรวจสอบเป็นวงจรหมด
ส่วนกลไกการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไปนั้น นายมีชัย ระบุว่า กรธ.มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปอย่างจริงจัง โดยใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ขณะที่การจัดให้มีวุฒิสภาในระบบทางอ้อมนั้น เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้เข้ามามีส่วนร่วมในใจกลางการเมือง โดยไม่ต้องพึงพานายทุน หรือ พรรคการเมือง พร้อมย้ำว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกยังไม่สมบูรณ์เต็มที่เพราะต้องรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำความคิดเห็นมาปรับแก้ให้สอดคล้องกัน กรธ.พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเสมอ เพื่อมุ่งผลประโยชน์เพื่อประชาชนเป็นหลัก
โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ จะส่งให้แม่น้ำ 4 สายพิจารณาให้ความคิดเห็น ส่วน ในเดือนมีนาคม จะส่งร่างที่แก้ไขให้กับรัฐบาล เดือนกรกฎาคม จะทำประชามติ ส่วนในเดือนมีนาคม 2560 คณกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะเริ่มร่างกฎหมายลูก ประมาณเดือนสิงหาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทูลเกล้า ฯ ร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะเลือกตั้งได้ในปลายปี 2560
อ่านฉบับเต็มที่นี่ : http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution2/more_news.php?cid=53