ความร่วมมือในการแก้ปัญหาภัยแล้ง นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ชี้แจงสถานการณ์น้ำในประเทศไทยของปีนี้ แม้ว่าจะยังไม่แล้งที่สุด และยังไม่มีพื้นที่วิกฤติ โดยประเทศไทยมีปริมาณน้ำเหลือใช้ในปีนี้จำนวน 2 แสน 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ยังไม่เพียงพอต่อการทำนาปรัง จึงต้องขอให้ประชาชนช่วยประหยัดน้ำให้มาก
ขณะที่ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงน้ำต้นทุนในปีนี้ว่า จากข้อมูลวันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 มี 4,247 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการวางแผนจัดสรรน้ำรวมทั้งสิ้น 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก เฉลี่ย 15.9-18.9 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คาดการณ์ปริมาณน้ำจะสามารถใช้ในการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ได้ถึงประมาณวันที่ 14 สิงหาคม 2559
และในวันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าว เรื่อง รัฐ-ราษฎร์ร่วมใจรับมือภัยแล้ง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า รัฐบาล ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ในการกำหนดนโยบายและจัดสรรทรัพยากรน้ำ โดยการบริหารจัดการน้ำในปี 2558-2569 จะเน้นในเรื่องการจัดน้ำอุปโภคบริโภค ก่อสร้างระบบน้ำประปา โดยทุกหมู่บ้านในประเทศไทย จะต้องมีน้ำกินน้ำใช้จนถึงปี 2560, การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตชลประทาน อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน ขุดสระน้ำในไร่นา พัฒนาแหล่งน้ำชุมชน ขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร, มีการจัดการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ขุดลอกลำน้ำสายหลักและสาขา เพื่อป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง มีการผันน้ำเลี่ยงชุมชน สร้างแก้มลิงในพื้นที่ราบลุ่ม, มีการจัดการคุณภาพน้ำ โดยการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย และผลักดันน้ำเค็ม, มีการฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ป้องกันการชะล้างการพังทลายของดิน
สุดท้ายคือยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ โดยการออกพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ และปรับปรุงโครงสร้างองค์กรทั้งระดับชาติและระดับชุมชน จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ทั้งในระดับประเทศและระดับลุ่มน้ำ พัฒนาระบบฐานข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับประชาชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข