แพทย์เกาหลีใต้ หยุดงานประท้วง-ค้านแผนเพิ่มโควตา นศ.แพทย์ 2,000 คนในปีหน้า

20 กุมภาพันธ์ 2567, 12:44น.


          เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD)ที่มีอัตราส่วนแพทย์ต่อคนไข้ต่ำสุด เฉลี่ยแพทย์ 2.56 คนต่อคนไข้ 1,000 คน เทียบกับอัตราเฉลี่ยแพทย์ 3.3 คนต่อคนไข้ 1,000 คนในกลุ่ม OECD  ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้มีแผนจะเพิ่มโควตานักศึกษาแพทย์อีก 2,000 คนในปีหน้า เพิ่มจากโควตานักศึกษาแพทย์ 3,058 คนในปัจจุบัน หวังแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในชนบทและแพทย์เฉพาะทางบางสาขา เช่น ศัลยแพทย์, กุมารแพทย์,สูตินรีแพทย์และแพทย์ฉุกเฉิน แต่แพทย์หลายพันคนไม่เห็นด้วย และนัดหยุดงานประท้วงในวันนี้(20 ก.พ.67)



          บีบีซี รายงานอ้างศ.ซูนมาน ควอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล (Seoul National University)ว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ มีคำสั่งให้แพทย์จบใหม่กว่า 1,000 คน กลับไปทำงาน หลังร่วมการนัดหยุดงานประท้วง อีกทั้งแพทย์ชำนาญการและแพทย์จบใหม่กว่า 6,000 คน ประจำโรงพยาบาลต่างๆกว่า 100 แห่งในเกาหลีใต้ ทยอยยื่นใบลาออกในวันนี้



          แพทย์ส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้ เกรงว่า การเพิ่มโควตานักศึกษาแพทย์ในปีหน้าจะส่งผลให้การแข่งขันในสายวิชาชีพแพทย์เข้มข้นกว่าเดิมและกระทบรายได้ของแพทย์ ขณะที่ แพทย์จบใหม่ ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เกรงว่านโยบายเพิ่มโควตานักศึกษาแพทย์จะกระทบพวกเขามากที่สุดในช่วงที่เริ่มต้นเข้ามาประกอบอาชีพในสายงานแพทย์



          ปัจจุบันแพทย์ของเกาหลีใต้ มีรายได้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆทั่วโลก ข้อมูลจาก OECD ปี 2022 แสดงให้เห็นว่า แพทย์ชำนาญการประจำโรงพยาบาลของรัฐในเกาหลีใต้ มีรายได้เฉลี่ย 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 7.22 ล้านบาท)ต่อปี



          หลายฝ่ายแสดงความกังวลเรื่องระบบสาธารณสุขของเกาหลีใต้ว่า โรงพยาบาลหลายแห่งต้องหยุดให้บริการบางส่วน เช่น เปิดให้บริการเฉพาะกรณีเหตุฉุกเฉิน ในช่วงที่แพทย์นัดหยุดงานประท้วง



#แพทย์เกาหลีใต้



#หยุดงานประท้วง

ข่าวทั้งหมด

X