ธปท.เกาะติดการชำระหนี้ของ SMEs ต้นทุนการผลิตสูง-ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ฟื้นตัวช้า

20 กุมภาพันธ์ 2567, 10:49น.


              ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กที่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งอาจส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิด NPL cliff ไม่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดโดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 3 ปี 66 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่ ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ลดลงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการก่อหนี้ที่ชะลอลง ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมทยอยปรับดีขึ้น ตามภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์และกลุ่มปิโตรเลียม ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวแม้ปรับดีขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายต่อทริปยังคงต่ำกว่าคาด


             สรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 4 และปี 66


-ระบบธนาคารพาณิชย์ มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 66 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจหลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ ประกอบกับมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อใหม่มีปริมาณเพิ่มขึ้นและกระจายตัวในหลายภาคธุรกิจ ขณะที่ สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวได้จากสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 4 ปี 66 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 492.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.66 โดยเป็นการลดลงจากสินเชื่อธุรกิจเป็นหลักจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และการกลับมาชำระคืนหนี้ ขณะที่ยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ต สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ร้อยละ 5.86 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย 




            ผลการดำเนินงานปี 66 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ


 


#หนี้SMEs


#ระบบแบงก์


CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทย  


 
ข่าวทั้งหมด

X