การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/66 ขยายตัวได้ร้อยละ 1.7 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 1.4 ในไตรมาส 3/66 ปัจจัยหลักมาจากการ ส่งออกสินค้าและบริการเร่งขึ้น การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัว
ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลลดลง เป็นผลจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการในระบบตลาด และการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลง ประกอบกับการลงทุนรวมลดลง ส่งผลให้ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.9 ต่ำกว่าที่สภาพัฒน์เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ (เดือนพ.ย.66) ว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5
เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส สภาพัฒน์เผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ติดลบร้อยละ 0.6 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยการติดลบดังกล่าวสะท้อนว่า ไทยมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ซึ่งหมายความว่า GDP ต้อง ติดลบอย่างน้อย 2 ไตรมาสติดต่อกัน
สำหรับการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 7.4 ชะลอลงจาก ร้อยละ 7.9 ในไตรมาส 3/66 ปัจจัยสำคัญมาจากกิจกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวชะลอตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี ไตรมาสนี้ มีปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือน คือ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/66 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยลดค่าครองชีพให้ภาคครัวเรือน
ส่วนเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2567 มีความเป็นไปได้ที่จะหดตัว หรือหดตัวต่อเนื่องติดกันเป็น 2 ไตรมาสหรือไม่ นายดนุชา ระบุว่า ต้องรอดูตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ของไตรมาส 1 หากการส่งออกและบริโภคยังขยายตัวได้ การท่องเที่ยวยังคงไปได้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับขึ้นมาได้ โอกาสที่ไตรมาส 1 จะติดลบ จนนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ก็จะลดลง จึงต้องติดตามข้อมูลดูอีกที เนื่องจาก ปัจจุบันเพิ่งผ่านมาแค่เดือนเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่เสี่ยงเข้าสู่ Technical Recession แต่ก่อนหน้านี้ก็มีหลายประเทศเข้าสู่ภาวะดังกล่าวแล้วในไตรมาสที่แล้วเช่น ญี่ปุ่นและอังกฤษ
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 สภาพัฒน์ คาดการณ์ว่า GDP ไทยจะโตราวร้อยละ 2.2-3.2 (ค่ากลางที่ 2.7%) นับว่าลดลงเมื่อเทียบกับประมาณการก่อน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่แล้ว ซึ่งคาดว่า GDP ปี 2567 ราวร้อยละ 2.7-3.7 (ค่ากลางที่ ร้อยละ 3.5) ปัจจัยหลักๆ มาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจภายในประเทศไทยจีน
สำหรับปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงในปี 2567 อื่นๆ มีดังนี้
ปัจจัยสนับสนุน
-การกลับมาขยายตัวของการส่งออก
-การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการลงทุนภาคเอกชน
-การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ
-การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะการกระจายตัวไปในเมืองรองมากขึ้น
ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง
-การลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง โดยเป็นผลจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 รวมถึงการลดลงของพื้นที่ทางการคลัง ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป
-สัดส่วนหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนรายได้น้อย ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้ภาคเกษตร
-ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตรจากสภาวะเอลนีโญ (El Niño) ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติและอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร
อ่านฉบับเต็ม:https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=14745&filename=QGDP_report
#จีดีพีไทย
#ส่งออกขยายตัว