การประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันนี้ (19 ก.พ.67) จะมีการพิจารณายกเลิกข้อห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00น. โดยอาจจะนำร่องยกเลิกในบางจังหวัดก่อน รวมถึงยกเลิกข้อบังคับการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งได้ประกาศใช้มาเกือบ 2 ปีแล้ว เพราะพบว่าไม่มีข้อเสียโดยตรงต่อปริมาณการดื่มหรือก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรสนับสนุนการขยายเวลาขายแอลกอฮอล์ให้กับร้านอาหารเพิ่มเติมอีก เพราะจะมีผลทำให้คนเสียชีวิตเพิ่มอีก 5-10 เท่า หรือประมาณ 500-1,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ไม่เพียงเฉพาะคนที่ดื่มเท่านั้น แต่อาจมีถึง 1 ใน 4 ที่เป็นชาวบ้านธรรมดา คนทำมาหากิน แม้กระทั่งตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ ต้องเสียชีวิตเพราะถูกคนเมาขับรถชน ยังไม่นับรวมที่พิการอีกจำนวนมาก เห็นว่า รัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้โดยไม่ส่งเสริมการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการวิจัยต่างสอดคล้องกันว่าการดื่มแอลกอฮอล์แม้ไม่ถึงระดับมึนเมาแต่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ทำลายทรัพยากรบุคคลที่ควรสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ เกิดการทะเลาะวิวาทเป็นคดีความเพิ่มขึ้น ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น และเกิดหนี้สินครัวเรือนมากขึ้น
จากการติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว โดยขยายเวลาปิดสถานบริการในเวลาตี 4 ในพื้นที่สี่จังหวัดนำร่องได้แก่ กทม.เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และเกาะสมุย ซึ่งมีสถานบริการขึ้นทะเบียนประมาณ 1,800 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.66 พบว่าได้สร้างผลกระทบชัดเจน โดยดูจากฐานข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในเดือนม.ค. 67 ในพื้นที่นำร่อง รวม 205 ราย เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดือนม.ค. 66 ที่ยังไม่มีนโยบายดังกล่าว ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 49 ราย คิดเป็น 31% หากวิเคราะห์เฉพาะช่วงเวลา 02.00-05.59 น. ที่ตรงกับช่วงเวลาที่ขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังมีนโยบายพบการเสียชีวิต 18 รายเพิ่มจากปีก่อน 8 ราย หรือเพิ่มขึ้น 80% แนวโน้มนี้เหมือนกันทั้ง 4 จังหวัด ยืนยันได้ว่า นโยบายขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สถานบริการเกิดผลกระทบรุนแรงคือเพิ่มการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงเวลาเช้าตรู่อย่างน้อยที่สุด 8 รายต่อเดือน หรือประมาณ 100 รายต่อปี
#บอร์ดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
#เมาแล้วขับ
CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ Hfocus