นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ และกรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิเคราะห์สถานการณ์ในเมียนมา บางส่วนในการวิเคราะห์ ได้กล่าวถึง กรณีที่ กองทัพเมียนมา ประกาศบังคับเกณฑ์ทหาร ครอบคลุมแรงงานหนุ่มสาวชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยภายใต้ MOU ด้วยว่า สภาวะดังกล่าวจะกระทบต่อภาคการผลิตบางกิจการของไทยและจะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในไทยเป็นการชั่วคราวระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะจะเกิดภาวะแรงงานเมียนมาหลบเข้าเมืองผิดกฎหมายมาทำงานเพิ่มขึ้น คนหนุ่มสาวจะหนีการเกณฑ์ทหารเข้ามาเป็นผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพหรือเข้ามาเป็นแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น
ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้บรรเทาลงอย่างมากจากแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านภาคการผลิต ภาคบริการในหลายกิจการต้องอาศัยแรงงานต่างชาติไม่ต่ำกว่า 60-70% ของกำลังแรงงานทั้งหมด หากพิจารณาตัวเลขข้อมูลล่าสุด พบว่า จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายภายใต้มาตรา 59 (ทั้งแบบทั่วไป และนำเข้าแรงงานตาม MOU) มาตรา 62 (ส่งเสริมการลงทุน) มาตรา 63/1 (ชนกลุ่มน้อย) มาตรา 63/2 (ตามมติครม. 7 กุมภาพันธ์ และ มติ ครม. 3 ตุลาคม 2566) และ แรงงานต่างด้าวทำงานแบบไปกลับตามมาตรา 64 ตามพระราชบัญญัติ การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ยอดคงค้างรวมที่ยังคงทำงานในประเทศในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 อยู่ที่ 3.145 ล้านคน ในจำนวนแรงงานต่างด้าวสามล้านกว่าคนนี้เป็นชาวเมียนมามากกว่า 1.4 ล้านคน คิดเป็น 44% ของแรงงานต่างด้าวทั้งหมด และ ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว หากถูกเรียกเกณฑ์ทหารแล้วกลับไปเมียนมา จะกระทบต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจไทยทันที แรงงานเมียนมาอาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑลประมาณ 747,417 คน หากแรงงานเหล่านี้หายไปเกิน 50% บางธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ กิจการจะเกิดภาวะชะงักงันในการทำงานทันที ดังนั้น รัฐบาลไทยและหน่วยราชการต้องแสวงหาวิธีที่เหมาะสม และเมื่อสถานการณ์ในเมียนมาเปลี่ยนแปลงไป รัฐไทยก็ต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้ว่า นโยบายสาธารณะเกี่ยวกับโครงสร้างประชากร นโยบายแรงงานและแรงงานต่างด้าวควรเป็นอย่างไร ตนประเมินว่า หากรวมแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองแบบไม่ถูกกฎหมายแล้ว แรงงานต่างด้าวที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยน่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน
หากสถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมายังดำเนินต่อไปและมีการบังคับการเกณฑ์ทหารจะมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากหนีออกนอกประเทศผ่านทั้งช่องทางตามกฎหมายและช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดน ด้วยเหตุผลทางด้านมนุษยธรรมและผลบวกต่อเศรษฐกิจของไทย ไทยควรขยายบทบาทค่ายผู้ลี้ภัยด้วยความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ และการยืดอายุการทำงานให้กับแรงงานเมียนมาภายใต้ MOU ในประเทศไทยทั้งหมด
#แรงงานเมียนมา
#เกณฑ์ทหาร
แฟ้มภาพ
CR:ขอบคุณข้อมูล Anusorn Tamajai-อนุสรณ์ ธรรมใจ