ซีเอ็นเอ็น รายงานอ้างนางลิซ แม็คคีโอน ผู้อำนวยการแผนกสถิติเศรษฐกิจของสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร(ONE)ว่า สหราชอาณาจักรเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 28 ม.ค.2568 สวนทางคำมั่นของนายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ที่ประกาศจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต
ทั้งนี้ จีดีพีของสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 ติดลบร้อยละ 0.3 ต่อเนื่องจากการติดลบร้อยละ 0.1 ในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ตามคำจำกัดความที่ทราบกันทั่วโป ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หมายถึงเศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ภาคอุตสาหกรรมหลักๆของสหราชอาณาจักรล้วนอ่อนแอในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิตหดตัวร้อยละ 1 การก่อสร้าง หดตัวร้อยละ 1.3 และภาคธุรกิจบริการเช่น ค้าปลีก หดตัวร้อยละ 0.2 เป็นตัวฉุดให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วงลงมากที่สุด แม้ว่าธุรกิจโรงแรมและการเช่ารถและเครื่องจักรต่างๆกระเตื้องขึ้นก็ตาม โดยภาพของเศรษฐกิจปี 2023 ถือว่าอ่อนแอ
ก่อนหน้านี้ ONE ระบุว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเติบโตร้อยละ 0.1 ในปีที่แล้ว ต่ำสุดนับแต่ปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก หลังเติบโตร้อยละ 4.3 ในปี 2565
เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเหนือความคาดหมาย หลังจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาสเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอลง ทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียสถานะ การเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกให้กับเยอรมนี
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น (Japan Center for Economic Research) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มหดตัวลง ในไตรมาส 1/2567 หลังจากที่มีการหดตัวอย่างเหนือความคาดหมายในไตรมาส 4/2566 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงันและสร้างความกังวลให้กับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
#สหราชอาณาจักร
#เศรษฐกิจถดถอย