การประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเสร็จในวันนี้ มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประเดิมชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนแรก โดยกล่าวว่าใน การทำงานของคณะกมธ.ยกร่างฯได้ยึดหลักการเศรษฐกิจพอเพียงในการวิเคราะห์ปัญหา คือ ยึดความพอประมาณ หมายถึงความพอดีไม่น้อยเกินไม่มากเกินไป , ถือความมีเหตุผล โดยดูเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดอย่างรอบคอบ และมีภูมิคุ้มกัน ต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบด้านต่างๆ สำหรับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่ การให้พลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมคุณธรรมและ นำชาติสู่สันติสุข
ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ ยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดประสงค์สำคัญคือการสร้างพลเมืองให้มีความเข้มแข็งเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐนิยม โดยให้อำนาจในการลงประชามติ การยื่นรายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายหรือเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งสภาจะต้องรับพิจารณาภายใน 180 วัน ส่วนภาคการเมือง คณะกรรมาธิการฯ ไม่ต้องการให้มีรัฐบาลเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียว เพื่อป้องกันปัญหาอำนาจรัฐนิยม จึงบัญญัติวีธีการเลือกตั้งและการคำนวณผลคะแนน ที่จะช่วยให้เกิดรัฐบาลผสม เพื่อให้พรรคการเมืองขนาดเล็กมีอำนาจมากขึ้น และห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งสส.ควบกับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี เป็นต้น ทั้งนี้ยังกล่าวถึงปัญหาในอดีตด้วยว่า ไม่ใช่มุ่งแต่ให้นิรโทษกรรม แต่ต้องดูต้นเหตุปัญหาและวีธีการแก้ไขที่ถูกต้อง ซึ่งได้มีการบัญญัติไว้ในหมวดการปฎิรูปและการปรองดอง โดยในวันนี้นายบวรศักดิ์ ยังได้กล่าวขอบคุณ นางทิชา ณ นคร อดีตสมาชิกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และขอให้สมาชิกสปช.อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ด้วย
ด้านนายสุจิต บุญบงการ รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุว่า คณะกรรมาธิการฯมุ่งหวังให้เห็นการเมืองที่ใสสะอาดในรัฐธรรมนูญใหม่ โดยยึดตามหลักประชาธิปไตย และได้นำแนวคิดประชาธิปไตยจากประเทศต่างๆ มาประยุกต์ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนี้ยังระบุว่าในอดีตรัฐบาลมีอำนาจมากเกินไป จนเกิดระบอบเผด็จการรัฐสภาและผู้นำรัฐบาลใช้อำนาจในทางที่มิชอบ จึงจำเป็นต้องแก้ไข และป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิมขึ้นอีก ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ก็มุ่งหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะช่วยให้การเมืองมีความชอบธรรม เพราะมีการรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนอยู่ตลอด จึงหวังว่าสมาชิกสปช.จะให้คำแนะนำอย่างเต็มที่ เพื่อนำไปปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
...ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร