ปธ.กมธ.ปฏิรูปการเมือง ยังกังวลเนื้อหาร่างรธน.ฉบับใหม่ในหลายประเด็น

19 เมษายน 2558, 11:29น.


จากกรณี นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แสดงความเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะไม่ผ่านการการพิจารณา และ เรียกร้องให้คณะรักษาควสามสงบแห่งชาติ (คสช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) รับฟังความเห็นของพรรคการเมืองมากขึ้นนั้น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (กมธ.ปฏิรูปการเมือง) ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น แต่เชื่อว่าการอภิปรายในระหว่างวันที่ 20 – 26 เมษายนนี้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะรับฟัง แต่ยังไม่สามารถคาดหมายได้ ว่าจะปรับเปลี่ยนได้แค่ไหน


ทั้งนี้ หลังจากที่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง มีมติรับร่างแรกของรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 17 เมษายน ก็มีการนัดประชุมร่วมกันในวันนี้ เพื่อศึกษารายละเอียดและกำหนดแนวทางการอภิปรายในที่ประชุมของ สปช. ในวันที่ 20-26 เมษายนต่อไป ซึ่งนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสปช. แจ้งปรับลดเวลาการอภิปราย ของคณะกรรมาธิการ และสมาชิก สปช. ทำให้ต้องมีการหารือเพื่อจัดสรรเวลาและประเด็นการอภิปรายใหม่  โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง มีความกังกวลเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น เช่น การกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)  ต้องลาออกเพื่อดำรงแหน่งรัฐมนตรี , ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม เพราะเห็นได้ว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่มีประเทศกำลังพัฒนาประเทศใดที่มีรัฐบาลผสมแล้วนำพาบ้านเมืองไปได้ เพราะจะเกิดปัญหา ด้านเสถียรภาพในการบริหารบ้านเมือง , รวมทั้งกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองขนาดเล็ก จะมีการเรียกรับผลประโยชน์ หากไม่ได้ก็อาจจะข่มขู่ว่าจะถอนตัว ซึ่งปัญหาเหล่านี้เคยเกิดมาแล้วในอดีต ,รวมถึงเรื่องการถอดถอน ที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เชื่อว่าจะไม่สามารถทำได้จริงเพราะที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญเคยบัญญัติให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ถอดถอน ก็ยังไม่สามารถทำได้ 


ส่วนมาตรา182  ก็ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความเป็นห่วง เนื่องจากเปิดให้รัฐบาลสามารถเสนอกฏหมายเข้ามายังรัฐสภาได้โดยตรง และหากระบุว่าเป็นกฏหมายสำคัญ ฝ่ายค้านก็จะต้องยื่นญัตติคัดค้าน ภายใน 48 ชั่วโมง หากไม่ยื่นจะถือว่าสภาผ่านความเห็นชอบ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายมาตรานี้ มีความรุนแรงมากกว่าการออกพระราชกำหนด หรือ อาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นั่นคือการที่รัฐบาลมีอำนาจเหนือรัฐสภา


 


...ผสข.วิรวินท์ ศรีโหมด
ข่าวทั้งหมด

X