รัฐสภาฝรั่งเศส มีกำหนดลงมติญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2 ฉบับ เนื่องจาก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มี.ค.66 รัฐบาลของนายมาครง ใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49/3 เพื่อให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายปฏิรูปเงินบำนาญ ซึ่งจะเพิ่มอายุเกษียณของแรงงานส่วนใหญ่จาก 62 ปี เป็น 64 ปีได้โดยไม่ต้องมีการลงมติในสภา ทำให้เกิดการประท้วงวุ่นวายไปทั่วประเทศ
มีการคาดว่ารัฐบาลของนายมาครง จะยังคงอยู่รอดต่อไป เนื่องจากญัตติไม่ไว้วางใจดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากถึง 287 เสียง ขณะที่พันธมิตรของนายมาครง ยังคงครองเสียงข้างมากในสภา
CNN รายงานผลการลงมติของสมาชิกสภานิติบัญญัติ รัฐบาลของนายมาครง รอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจ 2 ครั้งในสภา เดินหน้าแผนปฏิรูปเงินบำนาญต่อ การลงมติครั้งแรกที่ยื่นญัตติโดยกลุ่มการเมือง LIOT ประกอบด้วย พรรคการเมืองขนาดเล็ก มีสมาชิกรัฐสภาโหวตไม่ไว้วางใจ 278 เสียง ขาดอีกเพียง 9 เสียงจะได้เสียงข้างมาก
ขณะที่ การลงมติไม่ไว้วางใจครั้งที่ 2 ซึ่งยื่นญัตติโดยพรรคขวาจัด National Rally มีสมาชิกสภาสนับสนุนเพียง 94 เสียงเท่านั้น และแม้ว่ารัฐบาลจะรอดจากการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่กระแสความไม่พอใจของสังคมยังไม่มีทีท่าจะลดลง โดยมีผู้คนจำนวนมากมารวมตัวประท้วงกลางกรุงปารีสเผากองขยะ ตามหลังการลงมติในรัฐสภาและมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รายงานระบุว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวไป 70 คน ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า การประท้วงทั่วฝรั่งเศสเมื่อวันเสาร์(19 มี.ค.66) มีผู้ประท้วงถูกควบคุมตัว 169 คน
ขณะนี้ ฝ่ายค้านกำลังหาทางยื่นอุทธรณ์
เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการจราจรทางอากาศ ขอให้สายการบินยกเลิกเที่ยวบินประมาณ 20% ในวันอังคาร(21 มี.ค.66)และวันพุธ(22 มี.ค.66) และสายการบินแอร์ฟรานซ์ เตือนเรื่องการยกเลิกเที่ยวบินในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ส่วนโรงกลั่นน้ำมันและโรงเก็บน้ำมัน ได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อวันจันทร์(20 มี.ค.66) พนักงาน 39% ของTotalEnergie นัดหยุดงานประท้วง ทำให้มีขยะมากกว่าหมื่นตัน เกลื่อนถนนในกรุงปารีส เนื่องจาก พนักงานเก็บขยะหยุดงานประท้วง นอกจากนี้ สหภาพแรงงานเรียกร้องให้หยุดงานประท้วงทั่วประเทศในวันพฤหัสบดีนี้(23 มี.ค.66) กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า การประท้วงเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว มีผู้เข้าร่วมกว่าล้านคน
ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอายุเกษียณต่ำที่สุดในหมู่ประเทศอุตสาหกรรม แต่ใช้งบประมาณไปกับเงินบำนาญถึง 14% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ มากกว่าประเทศส่วนใหญ่
รัฐบาลของนายมาครง มองว่า ระบบในปัจจุบันซึ่งต้องพึ่งพาประชากรวัยทำงานในการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มประชากรวัยเกษียณที่มีอายุมากขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมตามวัตถุประสงค์อีกต่อไป จึงตัดสินใจเดินหน้าแผนปฏิรูปเงินบำนาญ
การปฏิรูประบบบำนาญ เป็นนโยบายสำคัญของนายมาครง ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2565 โดยมีสาระสำคัญคือการขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี และเพิ่มจำนวนปีในการสมทบเงินเพื่อที่จะได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน เพื่อปกป้องระบบบำนาญไม่ให้เข้าสู่ภาวะขาดดุลภายในปี 2573
#ฝรั่งเศส
#แผนปฎิรูปเงินบำนาญ
รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.js100.com/en/site/news/view/127537
CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ CNN,Reuters,BBC,Le Monde