วุฒิสภาฝรั่งเศสผ่านความเห็นชอบแผนเงินบำนาญของประธานาธิบดี แม้จะมีการประท้วงคัดค้าน

12 มีนาคม 2566, 18:36น.


          สมาชิกวุฒิสภาฝรั่งเศสลงมติ 195 ต่อ 112 เสียง ผ่านความเห็นชอบร่างกฏหมายว่าด้วยการปฏิรูประบบบำนาญ ตามที่ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง เป็นผู้เสนอ และทำให้สหภาพแรงงานฝรั่งเศส ที่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายนี้มาเป็นเวลานาน ประกาศให้สมาชิกหยุดงานประท้วงทั่วประเทศเพิ่มอีก 1 วัน เพื่อเพิ่มแรงกดดันคัดค้านกฎหมาย เพราะในขั้นตอนต่อไป คณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภา จะสรุปร่างสุดท้ายเพื่อเสนอให้ทั้ง 2 สภาลงมติ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีหน้า (16 มี.ค.66) แต่ผลของการลงมติในสภาล่างยังไม่แน่นอนเนื่องจากฝ่ายรัฐบาลจะต้องรวบรวมเสียงข้างมากให้ได้ นายกรัฐมนตรี เอลีซาแบ็ต บอร์น อาจใช้มาตรา 49/3 ผลักดันร่างให้ผ่านเป็นกฎหมายโดยไม่ต้องมีการลงมติ 


          การปฏิรูประบบบำนาญ เป็นนโยบายสำคัญของประธานาธิบดีมาครง ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2565 โดยมีสาระสำคัญคือการขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น 64 ปี และเพิ่มจำนวนปีในการสมทบเงินเพื่อที่จะได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน เพื่อปกป้องระบบบำนาญไม่ให้เข้าสู่ภาวะขาดดุลภายในปี 2573 


          นายกรัฐมนตรี บอร์น ทวีตข้อความว่า หลังจากการอภิปรายหลายร้อยชั่วโมง วุฒิสภาได้รับรองแผนการปฏิรูปเงินบำนาญ ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปเพื่อรับประกันอนาคตของระบบบำนาญ โดยมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ที่จะทำให้กฎหมายนี้มีการบังคับใช้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า




           สหภาพแรงงาน ประกาศระดมผู้กลุ่มผู้คัดค้านร่างกฎหมายในวันเสาร์ (11 มี.ค.) เพื่อหวังให้ประธานาธิบดียกเลิกความตั้งใจ ซึ่งตำรวจเปิดเผยว่า มีผู้ร่วมการชุมนุมประท้วงในหลายเมือง จำนวนรวมกันประมาณ 368,000 คน และมีความตึงเครียดเกิดขึ้นในช่วงค่ำ โดยที่กรุงปารีส ตำรวจจับกุมผู้ประท้วง 32 คน ที่ขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่, วางเพลิง และทำลายทรัพย์สิน ซึ่งหลังจากที่ได้รับทราบผลการลงมติของวุฒิสภา ทางสหภาพแรงงานประกาศนัดหยุดงานเพิ่มเติม 


          การนัดหยุดงานของแรงงานในฝรั่งเศส ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการเดินทางขนส่งทั้งทางรถไฟและทางอากาศ โรงไฟฟ้า คลังก๊าซธรรมชาติ และการเก็บขยะ การผลิตไฟฟ้าของประเทศลดลง 7.1 กิกะวัตต์หรือร้อยละ 14 


          อย่างไรก็ตาม ในการสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวฝรั่งเศส ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแผนการปฏิรูประบบบำนาญของประธานาธิบดีมาครง แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานเช่นกัน ทั้งเชื่อว่า สุดท้ายแล้วกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญจะมีการบังคับใช้เป็นกฎหมาย


          และแม้จะมีการประท้วงและการนัดหยุดงาน แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมาครงปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานถึง 2 ครั้งเพื่อขอพบหารือ ซึ่งทำให้สหภาพแรงงานไม่พอใจ นาย ฟิลิปป์ มาร์ติเนซ หัวหน้าสหภาพแรงงาน CGT กล่าวว่า ทั้งที่มีผู้คนนับล้านร่วมการชุมนุมประท้วง มีการนัดหยุดงาน แต่รัฐบาลยังคงเงียบ




#ปฏิรูปบำนาญ


#สหภาพแรงงาน


#ฝรั่งเศส


 
ข่าวทั้งหมด

X