ฝนทิ้งช่วง-น้ำในเขื่อนน้อย กรมชลฯ วอนเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยา ชะลอการทำนาปี
กรมชลประทาน ขอความร่วมมือเกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาชะลอการทำนาปี หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลดลงอย่างต่อเนื่อง ย้ำว่าขอให้รอฝนตกชุกสม่ำเสมอและมีน้ำเพียงพอในพื้นที่จึงทำการเพาะปลูก
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยแนวทางบริหารจัดการน้ำตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าเนื่องจากฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.64 ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายว่าในช่วงปลายเดือนมิ.ย.ถึงต้นเดือนก.ค.64 ปริมาณฝนจะลดลง อีกทั้งปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์น้อย จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตนี้ตามแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 64 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
กรมชลประทาน ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 22 จังหวัด ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้วให้ชะลอการปลูกข้าวนาปี 2564 เพื่อรอฝนตกสม่ำเสมอ และมีปริมาณน้ำในพื้นที่เพียงพอ พร้อมทั้งให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝนโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก ใช้น้ำชลประทานเสริม และบริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด สำหรับพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกแล้วควรเข้มงวดให้ใช้น้ำแบบรอบเวร และปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2564 ของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด
สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (1 ก.ค. 64)
-อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 34,073 ล้าน ลบ.ม.
-เป็นน้ำใช้การได้ 10,144 ล้าน ลบ.ม.
-เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) เพียง 986 ล้านลูกบาศก์เมตร
-ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมประมาณวันละ 16.28 ล้าน ลบ.ม.(1 พ.ค. – 30 มิ.ย. 64) อยู่ในเกณฑ์น้อย
-ขณะที่ยังคงต้องระบายน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ รวมกันวันละ 49.03 ล้าน ลบ.ม.
-พื้นที่ปลูกข้าวนาปี ในเขตลุ่มเจ้าพระยา ปลูกไปแล้วกว่า 4.70 ล้านไร่
-หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในการผลิตน้ำประปา
-สถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลสูงถึง 1.22 กรัมต่อลิตร เกินค่ามาตรฐานในการผลิตน้ำประปา(มาตรฐานค่าความเค็มที่สามารถผลิตน้ำประปาได้ต้องไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร) ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
CR:กรมชลประทาน
สหรัฐฯและแคนาดา เผชิญทั้งคลื่นความร้อนและยังจะเจอไฟป่าอีก
สถานการณ์ในต่างประเทศ คลื่นความร้อนทำให้อุณหภูมิในภาคตะวันตกของแคนาดาและภูมิภาคแปซิฟิกนอร์ทเวสต์ของสหรัฐฯพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เจ้าหน้าที่เตรียมรับมือสภาพอากาศร้อนจัดและไฟป่า
-รัฐออริกอนของสหรัฐฯ รายงานว่า พบผู้เสียชีวิต 63 รายที่เชื่อมโยงกับคลื่นความร้อน ในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิตมากถึง 45 รายในมัลต์โนมาห์ เคาน์ตีและเมืองพอร์ตแลนด์ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพของมัลต์โนมาห์เคาน์ตี ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากภาวะอุณหภูมิร่างกายสูงเกินไป ขณะที่ หน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐออริกอน ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วรัฐว่า มีประชาชนหลายร้อยคนมาโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องจากมีอาการที่เชื่อมโยงกับคลื่นความร้อน
-หน่วยงานชันสูตรของรัฐบริติชโคลัมเบียในแคนาดา รายงานว่า ในรอบ 5 วัน พบผู้เสียชีวิตกะทันหันอย่างน้อย 486 ราย เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากตัวเลขผู้เสียชีวิตตามปกติในช่วงเวลาดังกล่าว
‘ไบเดน’ ยอมรับสหรัฐฯ รับมือไฟป่าล่าช้า
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกระตุ้นให้ปัญหาคลื่นความร้อนรุนแรงและความแห้งแล้งที่ยาวนานเวียนมาบรรจบกัน และยังเตือนว่า สหรัฐฯมีความล่าช้าในการเตรียมพร้อมรับมือไฟป่าที่อาจทวีความรุนแรงสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้
ด้านนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของแคนาดา ได้หยุดกล่าวคำปราศรัยเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ในกรุงออตตาวา เพื่อไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนรุนแรงและแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับไฟป่า
อบรมอายุรแพทย์จบใหม่ 4 สาขา กำลังสำคัญช่วยดูแลผู้ป่วยโควิด-19
กระทรวงสาธารณสุข และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย อบรมอายุรแพทย์จบใหม่ 4 สาขา ได้แก่ อายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคปอด อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และเวชบำบัดวิกฤต ก่อนปฏิบัติงานในพื้นที่เขตสุขภาพ กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลบุษราคัม เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดสธ. และนพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. มาชี้แจงและให้กำลังใจพร้อมขอบคุณแพทย์ทุกคน โดยปฏิบัติตั้งแต่วันนี้ 1 ก.ค. 64 เป็นต้นไป
นพ.ธงชัย ขอบคุณ อายุรแพทย์จบใหม่ที่ให้ความร่วมมือ ขอให้ดูแลคนไข้อย่างดีที่สุด
นพ.สุระ กล่าวถึง การเพิ่มสัดส่วนของพยาบาลว่าเขตสุขภาพต่างๆ ได้ส่งอัตรากำลังมาให้แล้ว ทางกองตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับผิดชอบในการรวบรวมและจัดส่งพยาบาลไปช่วยในไอซียู 4 แห่งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะมีการประเมินสถานการณ์ทุกเดือน เพราะสถานการณ์ในต่างจังหวัดหลังมีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ของกทม.และปริมณฑล ทำให้มีคนไข้เพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย ต้องใช้บุคลากรดูแลเช่นกัน ดังนั้นในเดือนก.ค.นี้ หากพื้นที่ระบาดดีขึ้นก็จะมีการส่งแพทย์กลับคืนปฏิบัติงานในพื้นที่ของตนเองต่อไป
แพทย์กลุ่มนี้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว กระทรวงก็มีระบบในการช่วยเหลือดูแล มีค่าตอบแทน เงินช่วยเหลือต่างๆ ตามระเบียบ สำหรับแพทย์จะทำงานผลัดละ 8 ชั่วโมง โดย 7 วันทำงาน 5 ผลัด แต่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ หากมีความจำเป็นต้องขอร้องคุณหมอให้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น นอกเวลาราชการ หากสถานการณ์พบว่ายังมีคนไข้จำนวนมาก ส่วนพยาบาลก็ต้องมาพิจารณาว่า อาจเป็น 1 คนดูแล 1 เตียงหรือ 2 เตียง
ศบค.ย้ำคนเดินทางจากพท.เสี่ยง ต้องกักตัว 14 วัน เลี่ยงสังสรรค์ – สถานที่ชุมชน
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 หรือ ศบค.เปิดเผยว่า หลายจังหวัดปลายทางประมาณ 32 จังหวัด ในพื้นที่ ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และ ภาคใต้ ออกประกาศมาตรการเข้มงวดควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานเฝ้าระวังเข้มงวดสูงสุด ขอให้คนที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุด กักตัวเอง 14 วัน เมื่อเดินทางกลับภูมิลำเนา ให้ทำตัวเสมือนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อ แยกกักตัวห่างจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะหากคนในครอบครัวมีผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก อย่าไปสังสรรค์ หรือเข้าไปในพื้นที่ชุมชน เนื่องจาก ระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อ 2-14 วัน และขอให้ทุกโรงพยาบาลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ประชาชนทุกคนที่เข้ามาตรวจหรือรักษาตัว และพบว่ามีอาการปอดอักเสบ ไข้ ไอมีเสมหะ และขออย่าปิดข้อมูล