อย.ยืนยันไม่ปิดกั้นเอกชนนำเข้าวัคซีน แต่ปัจจุบันมาขอยื่นจดทะเบียนแค่ 3 แห่ง

08 เมษายน 2564, 16:15น.


          นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ยืนยันว่า รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข และ อย.ไม่ได้ปิดกั้นเอกชนในการนำเข้าวัคซีนเข้ามา และยังอยากจะเชิญชวนเอกชนนำเข้ามาด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเอกชน  รวมทั้งขั้นตอนการขออนุมัติการขึ้นทะเบียน ทาง อย.ก็พยายามทำให้เร็วที่สุด คือ ภายใน 30 วัน เพื่อให้ทันต่อความต้องการ   



         เลขาธิการ อย.เปิดเผยว่า ขณะนี้ อย.อนุมัติการขึ้นทะเบียนวัคซีนแล้ว 3 ราย คือ วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา นำเข้าโดยบริษัทแอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด , วัคซีนของบริษัทซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม  และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน นำเข้าโดยบริษัท แจนเซ่น-ซีเลก จำกัด    ส่วนที่กำลังยื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขอขึ้นทะเบียน ก็คือ วัคซีนของบริษัทบารัท ไบโอเทค ที่ประเทศอินเดียเป็นผู้ผลิต  นอกจากนี้ยังมีวัคซีนของบริษัทอื่นอีก 10 ราย ที่แจ้งเข้ามาว่าจะขอขึ้นทะเบียน แต่ยังไม่นำเอกสารมายื่น เช่น บริษัทโมเดอร์นา  บริษัทซิโนฟาร์ม หรือสปุตนิก 5 ทาง อย.ก็ยังรอให้นำเอกสารมายื่นเพื่อขึ้นทะเบียน





          สำหรับขั้นตอนการนำเข้าวัคซีน ทาง อย. กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เชิญภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  หรือบริษัทผู้ผลิตรายอื่นๆ  เข้ามารับทราบขั้นตอนแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ดังนั้นภาคเอกชนทราบดีว่า มีขั้นตอนนำเข้าอย่างไร โดยวัคซีนที่นำเข้า จะต้องมีบริษัทผู้ขออนุญาตนำเข้า เป็นผู้ถือทะเบียนและรับผิดชอบการจำหน่ายวัคซีนในประเทศ  แล้วนำเอกสารการรับรองประสิทธิภาพ ผลวิจัยต่างๆ มาให้ อย.พิจารณา ซึ่ง อย.จะเน้นดูในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน คุณภาพ และประสิทธิภาพ ใช้เวลาประมาณ 30 วัน รวมทั้งจะต้องมีมาตรการควบคุม ติดตามความปลอดภัยและผลข้างเคียงหลังฉีดด้วย เพราะเป็นวัคซีนที่อนุญาตให้ใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ภาครัฐไม่ได้ปิดกั้นเอกชนในการนำเข้าวัคซีน รวมทั้งยังอำนวยความสะดวกด้วย  





           ก่อนหน้านี้ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ต้องการขึ้นทะเบียนวัคซีนในไทย หากมีบริษัทผู้แทนหรือบริษัทลูกในประเทศไทย ก็จะให้บริษัทผู้แทนหรือบริษัทลูก เป็นผู้ยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียน หากไม่มี ก็ต้องแต่งตั้งตัวแทนเพื่อมายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียน ดังนั้น หากเอกชนต้องการนำเข้าวัคซีนมา ก็ต้องไปประสานกับบริษัทผู้ผลิต เพื่อให้นำเอกสารมาขอขึ้นทะเบียน  แต่ขณะนี้ หลายบริษัทผู้ผลิต มีนโยบายขายให้แก่ภาครัฐเท่านั้น เช่น ไฟเซอร์ แอสตราเซเนกา จอนห์สันแอนด์จอนห์สัน แต่หากอนาคตจะเปลี่ยนมาขายให้เอกชน ก็สามารถทำได้ 



          ส่วนเหตุผลที่บริษัทผู้ผลิตมุ่งจะขายให้เฉพาะรัฐก่อน ก็เพราะเป็นวัคซีนใหม่ที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ผลิตทุกรายมีเงื่อนไขให้รัฐที่จัดซื้อวัคซีนต้องมีเงื่อนไข ห้ามไม่ให้ผู้รับวัคซีนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ผลิตวัคซีน กรณีเกิดผลข้างเคียงรุนแรง No Fault Compensation  อีกด้วย

ข่าวทั้งหมด

X