หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์สถานบันเทิง นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข้อเสนอปรับมาตรการช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ขณะนี้สถานการณ์แนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นกว่าสัปดาห์ที่แล้วพอสมควร ทั้งนักเที่ยว พนักงาน นักดนตรี มีการเดินทางไปหลายจังหวัด โดยคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข มีมติปรับพื้นที่การแพร่ระบาด ดังนี้
-พื้นที่ควบคุมสูงสุด 5 จังหวัด (สีแดง) กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม
-พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 9 จังหวัด สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชุมพร ตาก ราชบุรี ชลบุรี สุพรรณบุรี นราธิวาส กาญจนบุรี
-พื้นที่เฝ้าระวังสูง 10 จังหวัด พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระนอง ระยอง สงขลา ยะลา ขอนแก่น
-พื้นที่เฝ้าระวัง จังหวัดอื่นๆ 53 จังหวัด
สำหรับมาตรการพื้นที่สีแดง 5 จังหวัด ร้านอาหาร และสถานบันเทิง ผับ บาร์ เปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. และงดจำหน่ายและดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน เนื่องจากความเสี่ยงขณะนี้อยู่ที่สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ รวมถึงการดื่มสุรา จึงต้องมีมาตรการเข้มงวด
นอกจากนั้น คณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข ยังมีมติเพิ่มมาตรการเข้มงวดมากขึ้น ดังนี้
1.มอบกรมควบคุมโรคปรับปรุงการกำหนดเขตพื้นที่ (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด/พื้นที่ควบคุมสูงสุด/พื้นที่ควบคุม/พื้นที่เฝ้าระวังสูง/พื้นที่เฝ้าระวัง) สถานการณ์ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ให้ตรงกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน
2.ให้ อสม. ในจังหวัดปลายทางติดตามผู้ที่เดินทางมาจากพื้นเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มสถานบันเทิง จากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ซักถามว่ามีการไปเที่ยวสถานบันเทิงมาหรือไม่ เพื่อที่จะแนะนำไปตรวจหาเชื้อ และเฝ้าระวัง ควบคุมโรค ตามมาตรการที่กำหนด พร้อมย้ำว่าไม่ห้ามเดินทาง ไม่เน้นย้ำเรื่องกักตัว แต่เน้นย้ำเรื่องการทำความเข้าใจ พร้อมขอให้ฟังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประกาศเพิ่มเติม
3. มอบกรมควบคุมโรคดำเนินการวางแผนเฝ้าระวังในจังหวัดเสี่ยง เน้นพื้นที่ที่มีสถานบันเทิง ผับ บาร์ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต้องคัดกรองตามมาตรการต่างๆ ให้ครบถ้วน ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีสถานบันเทิง 1,000 กว่าแห่ง
4. ให้ทุกจังหวัดตั้งรับเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง โดยให้ อสม. เคาะประตูบ้าน เป็นมาตรการที่เราเคยใช้ได้ผลควบคุมการระบาดครั้งที่แล้ว เนื่องจาก อสม.มีความเข้มแข็งมาก
5. ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เมื่อมีคนไข้ที่ต้องสงสัยมาให้ซักประวัติหากมีความเสี่ยงให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทันที โดยเฉพาะประวัติเที่ยวสถานบันเทิง
6. สั่งการสถาบันบำราศนราดูร และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เปิดให้บริการตรวจประชาชนทุกวันไม่เว้นวันหยุด ให้ผู้มีความสงสัยต้องการตรวจหาเชื้อโควิด-19
7. ให้ทุกจังหวัดพิจารณานำวัคซีนเพื่อการควบคุมโรค ตามคำแนะนำคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.
โดยมติที่ประชุมของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ จะนำเสนอต่อ ศบค.ชุดเล็กในวันที่ 7 เม.ย.เพื่อให้มีการบังคับทางการกฎหมาย โดยจะเสนอให้คงมาตรการนี้เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์แล้วจะประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง
นายแพทย์โอกาส ทิ้งท้ายว่า ความร่วมมือของประชาชนมีความสำคัญมาก สงกรานต์ปีนี้อาจจะไม่สนุกเหมือนที่ผ่านๆมา ขอให้เว้นระยะห่าง งดเว้นการสาดน้ำและกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก