TDRI ออกบทความเสนอให้รัฐบาล เน้นให้ปชช.เห็นว่าช่วงสงกรานต์ยังมีความเสี่ยง

03 เมษายน 2564, 16:40น.


          สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยแพร่บทความเรื่อง ทำไมเราต้องเป็นห่วงการระบาดใหญ่ในช่วงสงกรานต์ มากกว่าช่วงหยุดยาวหลายครั้งที่ผ่านมา



          สถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลงเหลืออยู่จำนวนมาก ทำให้การเดินทางกลับต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ รวมทั้งกิจกรรมต่างๆที่จะเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว มีโอกาสที่จะเพิ่มการระบาดในต่างจังหวัดที่น่าจะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) ได้ออกมาตรการ เช่น ขอความร่วมมือ “งดสาดน้ำ ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม และจัดคอนเสิร์ต” นอกจากนี้ ยังมีมติลดเวลาการกักตัวเหลือ 10 วันจาก 14 วัน และแบ่งโซนจังหวัดเป็นกลุ่มสีต่างๆ  และการกำหนดมาตรการในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในช่วงสงกรานต์  แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าเพียงพอที่จะป้องกันการระบาดได้มากนัก เมื่อพิจารณาความเสี่ยงที่สำคัญในช่วงต่าง ๆ



-ในช่วงการเดินทาง ซึ่งปัจจุบันไม่ชัดเจนว่าในพาหนะที่เป็นที่นิยมต่างๆ โดยเฉพาะรถทัวร์ รถโดยสาร และรถตู้ รวมทั้งรถโดยสารในตัวจังหวัด ยังคงใช้มาตรการเว้นระยะห่างมากน้อยแค่ไหน แต่ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า ในช่วงวันหยุดยาวนี้ น่าจะมีความต้องการเดินทางเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสมากที่ถ้ารัฐไม่เน้นเรื่องนี้อย่างชัดเจน ก็อาจมีการละเลยมาตรการด้านความปลอดภัยที่อาจจะสำคัญกว่านั้นอีก เช่น การบังคับให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทั้งผู้โดยสารและรถ ควรเตรียมหน้ากากอนามัยสำรองไว้สำหรับกรณีที่จำเป็น เพื่อให้สามารถบังคับเรื่องนี้ได้จริงด้วย ซึ่งอาจจะต้องเผื่อมากกว่าปกติ เพราะมีโอกาสที่หน้ากากอนามัยอาจจะเปียกน้ำมากกว่าปกติด้วย



-การแบ่งโซนจังหวัดเป็นกลุ่มสีต่าง ๆ แม้ว่าจะมีประโยชน์บ้างในการมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นในกรณีที่จังหวัดปลายทางมีความเสี่ยงสูง แต่คงจะไม่ได้ช่วยอะไรมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปัญหาความเสี่ยงของการระบาดในต่างจังหวัดน่าจะเกิดจากคนในจังหวัดเสี่ยงต้นทางเดินทางกลับเข้าจังหวัดเหล่านั้นมากกว่า มาตรการนี้จึงมีผลจำกัด และดูเหมือนหลังจากการประชุม ศบค. ในวันที่ 19 มี.ค. 64 รัฐบาลก็ไม่ได้เน้นย้ำมาตรการนี้มากนัก นอกจากบอกให้ระวังการย้ายไปทำกิจกรรมข้ามโซน



-มาตรการหลักๆที่รัฐบาลประกาศออกมาในลักษณะของ “แนวทาง” “ข้อห่วงใย”  และยังมีการแถลงหรือให้สัมภาษณ์ด้วยว่ามาตรการทั้งหมดเป็นการ “ขอความร่วมมือ” และจะไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ฝ่าฝืน ซึ่งแม้ว่าแนวคิดเรื่องการอะลุ้มอล่วยคงสอดคล้องกับบรรยากาศเทศกาล แต่ก็อาจส่งสัญญาณให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐไม่ได้เข้มงวดหรือเป็นห่วงกับการระบาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้มากนัก



          เป็นที่เข้าใจได้ว่ารัฐบาลคงหวังใช้ช่วงหยุดยาวของเทศกาลสงกรานต์มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในทำนองเดียวกันกับที่รัฐบาลได้เคยออกมาตรการกำหนดวันหยุดยาวหลายครั้งที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ



CR:TDRI



 



 

ข่าวทั้งหมด

X