จากข้อมูลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เก็บรวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ในปีงบประมาณ 2563 พบว่า เกิดอุบัติเหตุบนทางพิเศษมากกว่า 800 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 440 คน เสียชีวิตถึง 7 ราย โดยสาเหตุของอุบัติเหตุ พบว่า ร้อยละ 50 เกิดจากการใช้ความเร็ว เปลี่ยนช่องทางจราจรกะทันหัน และวิ่งบนไหล่ทาง ดังนั้นเพื่อลดปัญหาจราจรและลดอุบัติเหตุ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจึงร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจรและตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ จัดมาตรการคุมเข้มการใช้ความเร็วและการวิ่งบนไหล่ทาง
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย นำเทคโนโลยีมาใช้ในการลดอุบัติเหตุและปัญหาการจราจร 2 มาตรการ คือ
1.ติดตั้งป้ายเเจ้งเตือนความเร็ว (Your Speed Sign) ทำงานร่วมกับกล้องตรวจจับความเร็ว ให้ผู้ใช้ทางพิเศษใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด โดยติดตั้งไปแล้ว 2 เส้นทาง คือ ทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวน 4 จุด เเละทางพิเศษเฉลิมมหานคร จำนวน 5 จุด ส่วนอีก 2 เส้นทางอยู่ระหว่างติดตั้ง คือ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 4 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2564 เเละทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 4 จุด คาดว่าจะเเล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2565 รวมมีการติดตั้งป้ายแจ้งเตือนความเร็วและกล้องตรวจจับความเร็วทั้ง 4 เส้นทาง 17 จุด
2. ติดตั้งกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งไหล่ทางซ้าย (ช่องทางฉุกเฉิน) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในไหล่ทาง โดยติดตั้งเสร็จไปแล้ว 1 เส้นทาง คือ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) จำนวน 10 จุด ส่วนอีก 3 เส้นทาง อยู่ระหว่างติดตั้ง คือ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร จำนวน 6 จุด ทางพิเศษฉลองรัช จำนวน 8 จุด เเละทางพิเศษบูรพาวิถี จำนวน 8 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2564
โดยเส้นทางที่ติดตั้งกล้องตรวจจับรถยนต์วิ่งบนไหล่ทางและป้ายแจ้งเตือนความเร็ว เป็นเส้นทางที่พบการกระทำผิดบ่อยครั้ง จึงติดกล้องเพื่อป้องปรามให้ผู้ขับขี่ระมัดระวังไม่ทำผิดกฎหมาย และตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 เม.ย.64 เป็นต้นไป การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะส่งภาพถ่ายผู้กระทำผิดไปยังกองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อดำเนินคดี
พ.ต.อ.ศราวุธ จิตต์ระเบียบ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร ย้ำว่า การขับรถบนไหล่ทาง ถือว่ามีความผิดในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร โทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท เพราะไหล่ทางไม่ใช่ช่องทางปกติ มีป้ายแจ้งไว้ชัดเจนว่าห้ามใช้ เนื่องจากมีไว้สำหรับกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน เช่น รถพยาบาล หรือรถประสบอุบัติเหตุจอดรอเจ้าหน้าที่ กรณีที่ผู้ขับขี่ทั่วไปจะวิ่งบนไหล่ทางได้ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจเปิดช่องทางพิเศษในช่วงจราจรติดขัดหรือชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งกรณีนี้ ตำรวจจราจรจะประสานไปยังการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อแจ้งขอใช้ไหล่ทางและงดเว้นการเอาผิดผู้ใช้ไหล่ทาง
ซึ่งตามขั้นตอนแล้วก่อนจะส่งข้อมูลผู้กระทำผิดไปให้ตำรวจ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะกลั่นกรองก่อน 1 ชั้น ว่ามีการกระทำผิดจริงหรือไม่ เป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่เปิดช่องทางพิเศษให้วิ่งหรือมีความจำเป็นอื่นใดหรือไม่ จากนั้นตำรวจจราจรจะตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง ก่อนจะออกใบสั่งไปที่บ้านผู้กระทำผิด