การตอบสนองวัคซีนต่อการกลายพันธุ์ ของโรคโควิด-19 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยว่า สิ่งที่ระบุได้แน่ชัดเจนคือ วัคซีนตอบสนองได้ดีต่อ สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 แต่สายพันธุ์แอฟริกา B.1.351 วัคซีนต่างๆ มีแต่การพูดว่าอาจจะมีผลไม่ดีเท่าที่ควร เพราะยังไม่มีการศึกษา ซึ่งบริษัทวัคซีนที่ผลิตปีต่อไปจะต้องศึกษาวิจัย เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่ๆ เหมือนไข้หวัดใหญ่ ที่ต้องครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีการกลายพันธุ์เพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนของบริษัทยังทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ โดยขณะนี้ วัคซีนที่มีอยู่ตอบสนองเชื้อที่กลายพันธุ์มากน้อยแค่ไหน หรือเหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เรานำวัคซีนปีที่แล้วมาฉีดปีนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะการกลายพันธุ์เกิดขึ้นเรื่อยๆ ผลจากการกลายพันธุ์จะเป็นตัวพัฒนาสร้างวัคซีนมาฉีด
นอกจากนั้น ขณะนี้ศิริราชร่วมกับกรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยถึงภูมิคุ้มกันในบุคลากรสาธารณสุขถึงการตอบสนองต่อโรคโควิด-19 มีความแตกต่างกันอย่างไร โดยศึกษากรณีที่เกิดการติดเชื้อเองโดยตรง และกรณีที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว เปรียบเทียบภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนทั้งซิโนแวคและแอสตราเซเนกา จะมีการติดตามผลระยะยาวเพื่อดูภูมิคุ้มกันในร่างกายว่าวัคซีนชนิดไหนตอบสนองดีกว่ากัน สร้างภูมินานกว่ากัน ขณะนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่า ภูมิหลังฉีดวัคซีนจะอยู่นานแค่ไหน เพียงแต่รู้ว่าไม่น่าจะนานเป็นปีๆ เพราะจะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อซ้ำหรือไม่ ต้องฉีดวัคซีนทุกปีหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้คำตอบ ต้องมีการตรวจวิจัยในห้องปฏิบัติการที่ซับซ้อน และมีการส่งตรวจบางอย่างที่ต้องอาศัยห้องปฏิบัติการที่สหรัฐอเมริกาด้วยเพื่อทราบข้อมูลเชิงลึก
เบื้องต้นหากจะทราบว่าฉีดวัคซีนแล้ว 1 เดือนให้หลังจากที่ฉีดครบ 2 โดสแล้ว ภูมิคุ้มกันจะขึ้นเท่าไรนั้น ภายใน 1-2 เดือนจะทราบผลแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันจะติดตามไปนานเท่าไร เป็นประเด็นที่ต้องใช้เวลาศึกษา ซึ่งขณะนี้ตนได้ติดตามการศึกษาของ Public Health England-PHE หน่วยงานในอังกฤษ ที่มีการติดตามคนไข้โควิด-19 แล้ว 8 เดือนแล้วยังมีภูมิกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังมีการติดตามไปเรื่อยๆ และดูว่าจะหายไปเมื่อใด