ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2564
ตำรวจอินโดนีเซียวิสามัญฯคนร้ายหญิง ก่อเหตุในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลางกรุงจาการ์ตา
สถานีโทรทัศน์ของอินโดนีเซีย เช่น คอมปาสทีวีและเมโทร ทีวี รายงานว่า ตำรวจได้ทำวิสามัญฆาตกรรมสตรีคนหนึ่ง ขณะเข้าไปยังอาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติในกรุงจาการ์ตาในวันนี้ โดยสื่อท้องถิ่นกล่าวถึงสตรีดังกล่าวว่าเป็นคนร้าย ขณะที่สถานีโทรทัศน์ ทีวี วัน ของอินโดนีเซีย ซึ่งมีนักข่าวรายงานจากที่เกิดเหตุ ระบุว่า สตรีดังกล่าวเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ พร้อมเสนอคลิปข่าวแสดงให้เห็นสตรีในภาพข่าวสวมฮิญาบ หรือผ้าคลุมผมสีฟ้า สวมชุดสีดำ เดินมุ่งหน้าไปยังบริเวณอาคารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด และสตรีนอนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เบื้องต้นยังไม่ทราบชัดเจนว่าสตรีดังกล่าวมีอาวุธหรือไม่ อีกทั้งตำรวจยังไม่แถลงเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น 3 วันหลังสามีและภริยาคู่หนึ่งก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในเมืองมากัสซาร์บนเกาะสุลาเวสีเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 20 คน ส่วนคนร้ายเสียชีวิตทั้งสองคน หลังจากนั้นตำรวจจับกุมผู้ต้องสงสัย 13 คน และอยู่ระหว่างการสอบสวนในคดีนี้
เริ่มพรุ่งนี้ ศบค.ชุดใหญ่ เห็นชอบ ลดวันกักตัว 7-10-14 วัน
ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธาน ได้เห็นชอบตามที่ศบค.ชุดเล็กเสนอ เรื่องการตรวจค้นหาเชื้อชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย แบ่งเป็น
-กลุ่มที่ 1 จะมีการกักตัวเพียง 7 วัน หากเป็นชาวต่างชาติ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 14 วันก่อนการเดินทาง
-กลุ่มที่ 2 รับการกักตัว 10 วัน กลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนมาแล้วแต่ยังไม่ถึง 14 วันก่อนการเดินทาง หรือได้รับวัคซีนยังไม่ครบ 2 โดส และ
-กลุ่มที่ 3 เป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีรายงานสายพันธุ์กลายพันธุ์ กลุ่มนี้จะต้องมีการกักตัวอย่างน้อย 14 วัน เช่น สายพันธุ์แอฟริกา บราซิล อังกฤษ หรือในอนาคตอาจมีสายพันธุ์ที่เพิ่มเติม
นอกจากนั้น ใน กรณีแรกชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาจะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 และยืนยันไม่มีรายงานการติดเชื้อคือเป็นลบ จึงสามารถเดินทางเข้าประเทศ กลุ่มนี้จะตรวจผลโควิด-19 ครั้งที่หนึ่งในวันที่ 5-6 แต่สำหรับกรณีคนไทยที่เดินทางกลับบ้าน ซึ่งไม่ได้ตรวจโควิด-19 ก่อนเดินทาง จะตรวจหาโควิดแบบสวอปตั้งแต่วันแรกที่เดินทางถึงประเทศไทยและตรวจอีกครั้งในวันที่ 5-6 นี่คือกลุ่มกักตัว 7 วัน
ส่วนกลุ่มที่มีการกักตัว 10 วันจะตรวจโควิด 2 ครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 3-5 และตรวจอีกครั้งวันที่ 9-10
กลุ่มสุดท้ายที่กักตัว 14 วัน จะตรวจหาโควิด โดยวิธีการสวอป 3 ครั้ง ครั้งที่หนึ่งคือวันที่เดินทางถึงประเทศไทยในวันแรก ครั้งที่สองในวันที่ 6-7 และครั้งที่สามคือวันที่ 12-13 ทุกกลุ่มยังมีกำหนดด้วยว่าจะต้องอนุญาตให้มีระบบติดตามตัวจนครบ 14 วันถึงแม้ว่าจะออกจากสถานกักกันไปแล้ว มาตรดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.
ก่อนหน้านี้ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า ทั้ง 3 กลุ่ม จะมีการนับเวลาของวันเริ่มที่เที่ยงคืนถึง 6 โมงเย็น หมายความว่า หากเดินทางมาถึงประเทศไทยตอน 18.00 น. จะนับวันเดินทางที่เดินทางถึงเป็นวันที่หนึ่งในการเข้าสู่สถานกักกัน แต่ถ้าเดินทางถึงประเทศไทยเวลา 19.00 น. จะนับวันที่หนึ่งของการกักตัวเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากที่มาถึงประเทศไทย
สธ. ย้ำมีแผนจัดสรรวัคซีนโควิด-19 รับมือการแพร่ระบาด ขอประชาชนอย่าเชื่อข้อมูลไม่ถูกต้อง
สถานการณ์โควิด-19 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค(คร.) ได้สรุปการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้หน่วยบริการตั้งแต่ 28 ก.พ.-30 มี.ค.2564 วัคซีนซิโนแวค 190,720 โดสใน 13 จังหวัด และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 85,880 โดสใน 5 จังหวัด ส่วน การฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-30มี.ค.2564 สะสม180,477 โดส แยกเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 151,413 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 29,064 ราย จากยอดวัคซีนที่เข้ามาในรอบแรกราว 300,000 โดส
โดยการคิดแผนวัคซีนของ สธ.มีรายละเอียด ไม่ได้นั่งมโนคิดไป การที่มีข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน แล้วถูกเผยแพร่และถูกมองในภาพลบ ไม่มั่นใจในระบบสาธารณสุข จะเป็นปัญหาต่อการควบคุมการระบาดเป็นอย่างมาก เพราะวัคซีนเป็นเครื่องมือหลายประเทศ รอคอยคาดหวังให้ได้มา และแต่ละประเทศมีมาตรการจัดหามาให้ได้ เป็นผลมาจากการเจรจา ขอให้ประชาชนเชื่อถือข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีผู้รับรอง มีผู้ดูแลอย่างถูกต้อง อย่าเชื่อข้อมูลจากผู้ที่กล่าวด้วยวาจาหรือเข้าใจไม่ถูกต้อง ไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ดีเต็มที่ และพูดในเชิงลบ
ผอ.องค์การอนามัยโลก ให้สอบเพิ่ม ไวรัสโควิด-19 หลุดมาจากห้องแล็บจีน
นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ขอให้คณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศทำการวิจัยในเชิงสอบสวนโดยละเอียด สำหรับสมมุติฐานที่ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น เมื่อปลายปี 2562 อาจจะหลุดมาจากห้องแล็บของสถาบันไวรัสวิทยาในเมืองอู่ฮั่น แม้ว่า คณะผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เห็นว่าอาจจะเป็นประเด็นที่มีความเป็นไปได้น้อยที่สุดก็ตาม โดย WHO จะส่งคณะทำงานอีกชุดหนึ่ง ประกอบด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญของ WHO ไปประเทศจีนเพื่อศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม โดย WHO จะยังคงให้ความสำคัญกับสมมุติฐานทั้ง 4 ข้อ ส่วนอีก 2 ข้อคือเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่จากอาหารแช่แข็งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และกรณีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จากที่อื่นเดินทางมาแพร่เชื้อไวรัสในเมืองอู่ฮั่นโดยไม่ทราบว่า ตนเองติดเชื้อไวรัส มีน้ำหนักความเป็นไปได้ในลำดับรองๆลงไป
ก่อนหน้านี้ คณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งมีนายปีเตอร์ เบน เอมบาเรค เป็นหัวหน้าทีมเดินทางไปประเทศจีนระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพื่อสอบสวนต้นตอของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น ทางภาคกลางของจีน ศูนย์กลางการแพร่ระบาดเกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2562 เผยแพร่รายงานเมื่อวานนี้ สรุปว่า ทีมผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสมมุติฐานที่ว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดจากค้างคาวมาสู่คน โดยมีสัตว์เป็นพาหะนำโรค เป็นสมมุติฐานที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด พร้อมตัดสมมุติฐานว่าเชื้อไวรัส อาจหลุดมาจากห้องแล็บของสถาบันไวรัสวิทยาแห่งเมืองอู่ฮั่นโดยเหตุบังเอิญว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด
ด้านสหรัฐฯและประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดาและกลุ่มสหภาพยุโรป วิจารณ์ประเทศจีนว่า ปกปิดข้อมูล ทั้งไม่ส่งมอบข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อให้คณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO ทำการวิจัยต้นตอของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างละเอียด ขณะเดียวกันประเทศจีนปฏิเสธมาตลอดว่าไม่เคยปล่อยเชื้อไวรัสโควิด-19 จากห้องแล็บ
ไฟเซอร์ ยืนยันผลทดลองวัคซีนระยะที่ 3 ในวัยรุ่น มีประสิทธิภาพ 100 %
บริษัทไฟเซอร์ อิงค์เปิดเผยว่า ผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ในระยะที่ 3 พบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สำหรับวัยรุ่นที่มีอายุ 12-15 ปี นพ.อัลเบิร์ต เบอร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไฟเซอร์ กล่าวว่า บริษัทจะยื่นข้อมูลใหม่ดังกล่าวให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ในไม่ช้า เพื่อให้เด็กที่อยู่ในวัยดังกล่าวสามารถได้รับวัคซีนก่อนเปิดภาคการศึกษาใหม่ ไฟเซอร์ได้ทำการทดลองวัคซีนดังกล่าวโดยใช้อาสาสมัครจำนวน 2,260 รายในสหรัฐ โดยพบว่า กลุ่มที่ใช้วัคซีนหลอก มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 18 คน แต่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริง ไม่มีผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียว จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ FDA ให้การอนุมัติสำหรับการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ในเด็กที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี
สหรัฐฯเผย ทีเซลล์ในเม็ดเลือดขาวของคนที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถยับยั้งเชื้อกลายพันธุ์ได้
นายแอนดรูว์ เรดด์ หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) ร่วมกับคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ของสหรัฐฯเปิดเผย ผลการวิจัยเรื่องสารภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายของคนเรา ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ชื่อ โอเพน ฟอรัม อินเฟคเชิส ดีซีสเซส(Open Forum Infectious Diseases)ของสหรัฐฯ ถึงผลศึกษาวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดจากคนไข้ที่หายป่วยจากโควิด-19 รวม 30 คนพบว่า ทีเซลล์(T cells) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ ของระบบภูมิคุ้มกันในเม็ดเลือดขาว สามารถจะยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดดั้งเดิม และชนิดกลายพันธุ์จากอังกฤษ แอฟริกาใต้และบราซิลได้
ทีมวิจัยของ NIAID และมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ ระบุว่า ทีเซลล์ ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของระบบภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในร่างกายของคนเรา เป็นเซลล์ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมเสนอแนะให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องนี้ต่อไป โดยศึกษาจากกลุ่มคนไข้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 จำนวนมากกว่านี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า T cells สามารถยับยั้งได้ทั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดดั้งเดิมและชนิดกลายพันธุ์ได้อย่างแท้จริง
ก่อนหน้านี้ ผลวิจัยส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่า เชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์อาจจะดื้อยา จะมีผลเสีย เช่น ทำให้ T cells ในร่างกายคนต้านทานเชื้อไวรัสได้น้อยลง หรือวัคซีนอาจจะไม่สามารถจะป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ไทยจ่อขึ้นแชมป์ผลิตทุเรียนอันดับ 1 ของโลกแตะ 2 ล้านตัน
สถานการณ์ตลาดทุเรียนในอาเซียนรศ. ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า(2564-2568) ไทยจะแซงหน้าอินโดนีเซีย ตามมาด้วย มาเลเซีย และเวียดนาม ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่เพาะปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกภาคในประเทศไทย โดยในปี 2563 เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2554 เนื่องจากปลูกทุเรียนแทนพืชอื่น เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ด้านราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน (เฉลี่ยทั้งประเทศ) 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) ราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน (เฉลี่ยทั้งประเทศ) ในปี 2568 ประมาณ 144 บาท/กก. ราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ที่สวน เฉลี่ยในปี 2564-2568 ประมาณ 126 บาท/กก. แตกต่างจากปี 2554-2558 ที่ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.6 บาท/กก. ปี 2559-2563 ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 11.0 บาท/กก. สำหรับราคาทุเรียน
สำหรับ 5 ปีข้างหน้า จีนยังคงเป็นผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ของโลก ซึ่งนำเข้าเพิ่มขึ้น 95.1% จากปี 2563 เป็น 938,882 ตัน รองมาเป็นฮ่องกง นำเข้าเพิ่มขึ้น 61.4% เป็น 374,245 ตัน ขณะที่ประเทศผู้นำเข้ารายใหม่ที่น่าจับตามอง คือ เกาหลีใต้ และไต้หวัน แม้ว่าปริมาณนำเข้าจะยังไม่มากนัก แต่การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 53.3% และ 35.7%
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อทุเรียนได้ 9 ด้านคือ 1. จีนอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศอื่น 2. ไทยขาดระบบตรวจสอบย้อนกลับ 3.ทุเรียนอ่อน และเครื่องมือในการตรวจ 4.จีนตรวจเข้มมากขึ้น 5.จีนมีการปลูกทุเรียน และพัฒนาสายพันธุ์ 6.ประเทศไทยเน้นส่งออกทุเรียนสด 7.ขาดแพคเกจจิ้งในการยืดอายุทุเรียนสด 8.สวมสิทธิ์ทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน 9.ตลาดถูกควบคุมโดยล้ง
รมว.คลัง ยังไม่ขึ้นแวตแน่นอน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดที่จะปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากปัจจุบันที่จัดเก็บในอัตรา 7% โดยหลังจากครบกำหนดการลดอัตราการจัดเก็บภาษี VAT ไว้ที่ 7% ในวันที่ 30 ก.ย. นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขยายเวลาการคงอัตราการจัดเก็บที่ 7% ต่อไปอีก 1 ปี เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 64-65 ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว และประชาชนยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
หุ้นไทยปิดลดลง 2.32 จุด
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดวันนี้ที่ระดับ 1,587.21 จุด ลดลง 2.32 จุด มูลค่าการซื้อขาย 72,418.48 ล้านบาท ตลาดหุ้นไทยวันนี้แกว่งไซด์เวย์ถึงพักฐาน แต่ดูดีกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ติดลบ ท่ามกลางแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) สหรัฐปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ มาจนถึงร้อยละ 1.7 ทำให้มีแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา และเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ Fund Flow ชะลอ นอกจากนี้ ยังรอติดตามผลการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสที่มีการประชุมขึ้นในวันที่ 31 มี.ค.-1 เม.ย.นี้
ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียวปิดลดลงในวันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปีงบการเงิน 2563 เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ดัชนีนิกเกอิปิดที่ 29,178.80 จุด ลดลง 253.90 จุด
ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดลบในวันนี้ ตามทิศทางตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ซึ่งถูกกดดันจากการที่ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (30 มี.ค.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 3 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยคาดว่าเขาจะเปิดเผยโครงการในวันนี้ (31 มี.ค.) ดัชนีฮั่งเส็งปิดวันนี้ที่ 28,378.35 จุด ลดลง 199.15 จุด