ผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน ชี้แจง ผู้หนีภัยจากเมียนมาข้ามมาไทย บาดเจ็บ 7 คน
นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชุมเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VTC) ที่ห้องประชุม CAT CONFERENCE สำนักงานบริการลูกค้าแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง กรณีที่มีการปฏิบัติการทางทหาร ระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองทัพเมียนมา ตรงข้ามชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้มีผู้หลบหนีภัยการสู้รบเข้ามาอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสาละวินชายแดนไทย
ผู้ว่าฯ จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยข้อเท็จจริง 3 ประเด็น
-ประเด็นที่ 1 สถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) ที่ได้ข้ามฝั่งมาตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.64 จนถึงปัจจุบัน จำนวนประมาณ 2,000 คน กระจายอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง และ อ.ขุนยวม บางส่วน โดยกองกำลังนเรศวร ได้ดำเนินการดูแลความปลอดภัย พร้อมทั้งเจรจาสร้างความเข้าใจให้ผู้หนีภัย ซึ่งได้ยินยอมเดินทางกลับโดยสมัครใจ คงเหลือจำนวนเพียงบางส่วน คาดว่าจะเดินทางกลับภายใน 1-2 วันนี้
-ประเด็นที่ 2 หากแนวโน้มสถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น และมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) บางส่วนยังไม่สมัครใจกลับหรือมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาเข้ามาเพิ่มเติม จังหวัดจะได้ดำเนินการตามแนวทางของรัฐบาล ซึ่งจะได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อไป กรณีหากสถานการณ์ยกระดับความรุนแรงขึ้น จังหวัดจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) ในระดับจังหวัด โดยมีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งนี้หากเกินกำลังในระดับจังหวัดจะขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม จากกระทรวงมหาดไทย ต่อไป สำหรับการเตรียมพื้นที่กักตัวหากมีผู้อพยพเข้ามามากขึ้น ทางจังหวัดได้มีการเตรียมในเบื้องต้น รอเพียงความชัดเจนจากหน่วยเหนือสั่งการเพิ่มเติม
-ประเด็นที่ 3 กรณีมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) ได้รับบาดเจ็บจำนวน 7 คน ทั้งหมดได้เข้ามารักษาพยาบาลเบื้องต้น ที่โรงพยาบาล อ.สบเมย จำนวน 5 คน โรงพยาบาลแม่สะเรียง จำนวน 1 คน และโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จำนวน 1 คน เมื่อได้ทำการรักษาเสร็จสิ้น ตามกระบวนการทางการแพทย์แล้ว จะได้ส่งตัวกลับพื้นที่ปลอดภัยต่อไป ทั้งนี้เป็นการช่วยเหลือ ตามหลักสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศ
เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 เจ้าหน้าที่ รพ.สต.แม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ได้รักษาชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับบาดเจ็บ 7 คน ชาย 3 คน หญิง 4 คน ก่อนนำส่งโรงพยาบาลสบเมย 5 คน โรงพยาบาลแม่สะเรียง 1 คน และ ส่งต่อโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ 1 คน ทั้งหมดบาดเจ็บจากระเบิดจากการโจมตีทางอากาศของทหารเมียนมา ทีมแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลสบเมย ใส่ชุด PPE ป้องกันโควิด-19 ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อมนุษยธรรม
CR:สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ. แม่ฮ่องสอน
ตร.ทางหลวง จับรถตู้ขนแรงงานเมียนมา เตรียมส่งไปสมุทรสาคร
ร.ต.อ.เวิน ไชยอาษา รองสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 3 กองกำกับการ 2 จ.ประจวบคีรีขันธ์ (สว.ส.ทล.3 กก.2) พร้อมกำลังตั้งด่านบนถนนเพชรเกษม ฝั่งขาขึ้นกรุงเทพฯ ในพื้นที่ อ.บางสะพาน หลังสายลับแจ้งว่ามีการลักลอบขนแรงงานเถื่อนผิดกฎหมายจากพื้นที่ภาคใต้เดินทางไป จ.สมุทรสาคร ต่อมา พบรถตู้สีขาวทะเบียน ฮบ 4768 กทม. ต้องสงสัยตรงกับที่สายลับรายงานแล่นผ่านมาถึงหลัก กม.ที่ 346 บริเวณหน้าวัดดงไม้งาม พื้นที่หมู่ 3 ต.ชัยเกษม จึงเรียกให้หยุดและตรวจสอบ พบรถตู้คันดังกล่าวมีนายเกรียงไกร ศิริบูรณ์ อายุ 50 ปี ชาว อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นเจ้าของและคนขับรถ ภายในรถพบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา 6 คน เป็นชาย 5 คน และหญิง 1 คน ตรวจสอบไม่พบเอกสารยืนยันการเข้าเมือง จึงแจ้ง ร.ต.อ.ประสิทธิ์ พวงบานชื่น รอง สว.ตม.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าตรวจสอบ
จากการสอบสวน ทราบว่าเจ้าของรถตู้ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากนายหน้ารายหนึ่งให้ไปรับแรงงานเมียนมาทั้งหมดที่ปั๊มน้ำมันใน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อไปส่งที่ จ.สมุทรสาคร ได้รับค่าจ้างหัวละ 1,500 บาท แต่เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อ จากนั้นได้นำตัวไปสอบสวนเพิ่มเติมขยายผลแหล่งที่มาของแรงงานเถื่อน คาดว่าเป็นแก๊งลักลอบขนแรงงานเถื่อนเพื่อนำไปส่งในโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งที่ จ.สมุทรสาคร และทราบว่ายังมีแรงงานเถื่อนจากภาคใต้ที่ไม่มีงานทำ เนื่องจากสถานที่ท่องเที่ยวปิดบริการ จึงต้องการหนีนายจ้างไปทำงานที่ จ.สมุทรสาครอีกจำนวนมาก
1 เม.ย.เริ่มกลับมาตั้งด่านทั่วประเทศ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงเหตุที่ต้องกลับมาตั้งด่านตรวจของตำรวจ เนื่องจาก ในช่วงการชะลอตั้งด่านได้ศึกษาข้อดีข้อเสียจนคณะทำงานเห็นว่าการไม่มีด่านจะมีข้อเสียเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในด้านต่างๆ มีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเมาและขับ การขับจักรยานยนต์ในเลนห้ามวิ่ง เป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนน ปัญหาการไม่สวมหมวกกันน็อค เพิ่มมากขึ้น ปัญหายาเสพติด รวมไปถึงการหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว หากไม่มีด่านสกัดต่างๆ เรื่องด่านจึงมีความจำเป็น แต่ต้องทำให้รอบคอบ รัดกุม โปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมที่จะถูกร้องเรียนและแก้ปัญหาให้ประชาชน
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาจะป้องกันการทุจริตได้พอสมควร เนื่องจากก่อนตั้งด่านต้องขออนุญาตผู้บังคับการและผู้กำกับการ เจ้าของพื้นที่ หากเกิดการทุจริตผู้บังคับบัญชาที่อนุญาตให้ตั้งจุดตรวจต้องรับผิดชอบในส่วนที่กำกับดูแลไม่ดีพอ
สิ่งที่จะทำให้โปร่งใสได้ คือ กล้องซีซีทีวีเคลื่อนไหวได้ที่จะต้องมีประจำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ตรวจ และด่านต่างๆ เช่น ด่านกวดขันวินัยจราจร ด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ ด่านตรวจวัดมลพิษทางอากาศ ด่านอาชญากรรม ฯลฯ จะต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ต้องมีป้ายที่มีมาตรฐาน และนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ด่านเมา จากเดิมเคยมีปัญหาร้องเรียนต่างๆ ก็จัดให้มีกล้องบันทึกภาพแบบเรียลไทม์ไว้ประจำจุดที่มีการยืนยันผลด้วย
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้ให้ทำฐานข้อมูล TPCC (Traffic Police Checkpoint Control) เพื่อกำหนดจุดตั้งด่าน ลงรายชื่อผู้ปฏิบัติงานในด่านต่างๆ ลงในแผนที่ ซึ่งผู้บังคับบัญชา สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการตั้งจุดตรวจ อยู่ในจุดใดบ้าง มีการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับการหรือไม่
ด่านทุกด่านจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับการซึ่งจะต้องมีเหตุผลในการตั้งด่าน เช่น บริเวณจุดตั้งด่านมีอาชญากรรมสูง มีเด็กแว้น เป็นทางผ่านขนยาเสพติด เป็นจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อย หรือมีสถานบริการอยู่จำนวนมากที่ต้องตั้งเพื่อป้องปราบผู้ที่เมาแล้วขับ ฯลฯ
ยกเว้นกรณีเดียวที่ไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับการในกรณีฉุกเฉิน คือ การสกัดจับคนร้าย ตอนนี้หลายสถานีมีความพร้อม มีการตั้งไปแล้วส่วนหนึ่ง ในเมืองใหญ่ๆ เช่น จ.อุบลราชธานี จ.นครราชสีมา เมื่อมีความพร้อมแล้ว 1 เม.ย.64 ก็อยากจะให้บังคับใช้กฎหมายเลย เนื่องจาก ใกล้ช่วง 7 วันอันตราย สำหรับกรุงเทพฯ ยังไม่ได้ตั้งจริงจัง ซึ่งหากมีความพร้อมอาจจะเริ่ม 1 เม.ย.64 เช่นกัน
ส่วนการเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า ปีนี้รัฐบาลกำหนดวันที่ 10-16 เม.ย.64 เป็นช่วง 7 วันอันตราย เชื่อว่า ประชาชนจะเดินทางออกนอกกรุงเทพฯ ประมาณวันที่ 9-10 เม.ย.64 และทยอยเดินทางกลับตั้งแต่วันที่ 15-18 เม.ย.64 คาดการณ์ว่าปริมาณคนเดินทางออกต่างจังหวัด จะใกล้เคียงกับสงกรานต์ปี 2562 ซึ่งได้เตรียมการเรื่องเส้นทางต่างๆ ช่วงมอเตอร์เวย์ตั้งแต่ลำตะคองถึงสีคิ้ว จะมีการเปิดใช้เส้นทางเพิ่ม 2 ช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 9-13 เม.ย.64 และขากลับตั้งแต่วันที่ 14-19 เม.ย.64 เชื่อว่า จะแบ่งเบาการจราจรไปทางถนนมิตรภาพได้มากพอสมควร เชื่อว่า การวางแผนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การจราจรไม่ติดขัดจนเกินไป