น้ำมันโลก ลดลงต่อเนื่อง หลังเปิดเดินเรือในคลองสุเอซ
ราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับลดลงอย่างต่อเนื่อง ปิดตลาดวันที่ 30 มี.ค.64 หลังจากที่สถานการณ์ในคลองสุเอซ อียิปต์ กลับมาเปิดการสัญจรทางน้ำ เรือสินค้าสามารถแล่นผ่านคลองสุเอซได้อีกครั้ง และคาดหมายว่าน่าจะสามารถเคลียร์เรือที่จอดนิ่ง 422 ลำได้หมดภายใน 3 วันครึ่ง
-สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือ ไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนพ.ค.64 ลดลง 1.01 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดที่ 60.55 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
-เบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนพ.ค.64 ลดลง 84 เซนต์ ปิดที่ 64.14 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล
ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯพุ่งขึ้นในรอบ14เดือน รอแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดตลาดลดลงพอสมควร นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน จากความหวังที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวขึ้น รวมทั้งคาดการณ์การดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อ ท่ามกลางความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 และในวันนี้นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะแถลงแผนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานสูงกว่า 3,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เน้นไปที่การซ่อมบำรุงถนนและทางรถไฟ ขณะที่ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มั่นใจว่า งบประมาณจะช่วยสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ
-ดาวโจนส์ ลดลง 104.41 จุด หรือร้อยละ 0.31 ปิดที่ 33,066.96 จุด
-เอสแอนด์พี ลดลง 12.54 จุด หรือร้อยละ 0.32 ปิดที่ 3,958.55 จุด
-แนสแดค ลดลง 14.25 จุด หรือร้อยละ 0.11 ปิดที่ 13,045.39 จุด
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมี.ค.64 ของสหรัฐฯ ที่จะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ 2 เม.ย.64 ขณะที่ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 630,000 ตำแหน่ง ในเดือนมี.ค.64 และคาดว่า อัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับร้อยละ 6
หลายประเทศในโครงการโคแวกซ์ เร่งหาแหล่งผลิตวัคซีนใหม่ หลังอินเดียระงับส่งวัคซีน
หลายประเทศในทวีปเอเชียเร่งหาแหล่งผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แห่งใหม่ หลังบริษัทผู้ผลิตวัคซีนของอินเดียจำกัดการส่งออกวัคซีนที่ทำให้โครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลกประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน
เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ อยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการได้รับวัคซีนล่าช้าในโครงการโคแวกซ์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ประเทศยากจน
ปัญหาดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศระงับการส่งออกวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียเป็นการชั่วคราว เนื่องจากความต้องการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น
สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย มีกำหนดส่งมอบวัคซีน 90,000,000 โดสให้โครงการโคแวกซ์ในเดือนมี.ค.64 และเม.ย.64 ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งมอบวัคซีนส่วนนี้มาใช้ในประเทศเป็นจำนวนเท่าใด แต่ผู้ดูแลโครงการโคแวกซ์ เตือนว่า ความล่าช้าในการจัดส่งวัคซีนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นายการ์ลิโต กัลเวซ ประธานคณะทำงานวางแผนฉีดวัคซีนของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า แผนการเพิ่มกำลังฉีดวัคซีนโควิด-19 รายวันของฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบจากนโยบายส่งออกวัคซีนของอินเดียเช่นกัน
ขณะที่เกาหลีใต้ ยืนยันว่า ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพียง 432,000 โดส จากทั้งหมด 690,000 โดส โดยจะได้รับวัคซีนที่เหลือล่าช้าจากกำหนดเดิมไปเป็นสัปดาห์ที่สามของเดือนหน้า
ส่วนเจ้าหน้าที่ของเวียดนาม ขอให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ หลังจากถูกปรับลดวัคซีนจากโครงการโคแวกซ์ ร้อยละ 40 เหลือ 811,200 โดส และคาดว่าจะได้รับวัคซีนล่าช้าออกไปอีกหลายสัปดาห์
ด้านเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า อินโดนีเซีย อาจจะได้รับวัคซีน 10,300,000 โดส จากโครงการโคแวกซ์ล่าช้าออกไปจนถึงเดือนพ.ค.64
สหรัฐฯ ยืนยัน การอายัดถุงมือยางของ Top Glove ไม่กระทบมาตรการคุมโควิด
หลังจากที่สำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (CBP) มีคำสั่งกักสินค้าของบริษัท Top Glove Corp Bhd ผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่สัญชาติมาเลเซีย ไม่ให้เข้าประเทศ อ้างว่าบริษัทมีการบังคับใช้แรงงานในสายการผลิต ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนก.ค.63 CBP ก็เคยสั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากบริษัทลูก 2 แห่งของ Top Glove ด้วยเหตุผลเดียวกัน
ล่าสุด สำนักงาน ยืนยันกับรอยเตอร์ว่า มาตรการแบนสินค้าขยายให้ครอบคลุมถุงมือยางแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากทุกๆ โรงงานของ Top Glove ในมาเลเซียด้วย
ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ฉุดราคาหุ้น Top Glove ดิ่งลงทันทีเกือบร้อยละ 5 ในการซื้อขายเมื่อวานนี้
Top Glove ระบุว่า คณะที่ปรึกษาในสหรัฐฯ ได้ติดต่อประสานไปยังผู้แทน CBP เพื่อขอคำชี้แจงและขอทราบข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว และขณะนี้บริษัทยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในแง่การเงินและการผลิต
นายจอห์น เลนเนิร์ด รักษาการผู้ช่วยกรรมมาธิการฝ่ายการค้าของ CBP ยืนยันว่า คำสั่งแบนสินค้า Top Glove จะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อความต้องการถุงมือทางการแพทย์ สินค้าจำเป็นในช่วงที่สหรัฐฯ ยังเผชิญการระบาดของโควิด-19
ขณะที่ บริษัทTop Glove ยืนยันว่า บริษัทปรับปรุงกฎระเบียบด้านการทำงานในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลังมีการตีแผ่ข้อมูลว่า พนักงานส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวเนปาล บังกลาเทศ และชาติอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาทำงานในมาเลเซียต้องทำงานถึง 72 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เฉลี่ยมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่มีวันหยุด) และนอนรวมกันอย่างแออัดในหอพัก โดยที่ได้ค่าแรงต่ำ อีกทั้ง Top Glove ยังเป็นหนึ่งในบริษัทที่ถูกรายงานว่ามีการบังคับให้พนักงานจ่ายเงินเพื่อเข้าทำงานในโรงงานถุงมือยาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานใช้หนี้และถูกผูกมัดไว้กับนายจ้าง
บริษัทที่ปรึกษาด้านจริยธรรมการค้า Impactt ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท Top Glove ให้ตรวจประเมินพฤติกรรมการค้าและแรงงานของบริษัท ได้เผยแพร่รายงานเมื่อต้นเดือนนี้ว่า จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน ม.ค. 64 ไม่พบสิ่งที่ระบุว่ามีการบังคับใช้แรงงานอย่างเป็นระบบในโรงงานของ Top Glove
รัฐมณีปุระ ของอินเดีย พร้อมช่วยเหลือ รักษาชาวเมียนมาที่บาดเจ็บ
กระทรวงมหาดไทยของรัฐมณีปุระ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย แถลงว่า ได้ถอนคำสั่งที่ให้เจ้าหน้าที่ปฏิเสธการรับผู้อพยพชาวเมียนมาอย่างสุภาพแล้ว โดยอ้างว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการตีความคำสั่งผิดพลาด พร้อมทั้งออกคำสั่งที่ 2 ระบุว่า ทางการจะใช้มาตรการด้านมนุษยธรรมทุกอย่างและใช้ความช่วยเหลือผู้อพยพจากเมียนมาทุกด้านต่อไป รวมถึงการรักษาผู้บาดเจ็บ
ความเคลื่อนไหวของอินเดียเกิดขึ้นในขณะที่มีรายงานว่า ชาวเมียนมาจำนวนมากอพยพเข้าสู่รัฐมณีปุระ เพื่อหลบหนีความรุนแรงในเมียนมาซึ่งเกิดขึ้นหลังการก่อรัฐประหารของกองทัพเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64 ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านทั่วประเทศ ขณะที่ทหารใช้กำลังปราบปรามอย่างหนักจนตอนนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 รายแล้ว
อินเดียกับเมียนมา มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะอนุญาตให้ชาวอินเดียหรือเมียนมาข้ามพรมแดนเข้ามาและพำนักอยู่ได้สูงสุด 14 วัน แต่ชายแดนระหว่างทั้งสองประเทศถูกปิดตั้งแต่เดือนมี.ค.63 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
เมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค.64 เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งจากเมียนมาข้ามพรมแดนเข้าสู่รัฐมิโซรัม ของอินเดีย โดยพวกเขา เปิดเผยกับ บีบีซี ว่าตัดสินใจหนีไปอินเดียเพราะไม่อยากทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ให้ยิงผู้ชุมนุม
ตร.นิวยอร์ก ตามจับ ชายผิวสี กระทืบหญิงเอเชีย ย่านมิดทาวน์ รัฐแมนฮัตตัน
หลังจากมีการเผยแพร่คลิป ชายชาวอเมริกันผิวสี ตะโกนด่า และทำร้ายเตะหญิงชาวเอเชียอย่างโหดร้าย ตำรวจนิวยอร์ก กำลังตามล่าตัวชายคนดังกล่าวที่อยู่ในกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายร่างกายหญิงชาวเอเชีย อายุ 65 ปี รายหนึ่งที่เดินผ่านมา ขณะที่จะไปโบสถ์อย่างโหดร้าย ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่บริเวณล็อบบี้ของอาคารแห่งหนึ่งริมถนนในย่านมิดทาวน์ รัฐแมนฮัตตัน เผยให้เห็นเหตุการณ์ขณะที่ชายผู้ก่อเหตุทำร้ายเหยื่ออย่างไม่ปรานี โดยเริ่มจากเตะถีบที่ท้อง ตามด้วยการกระทืบศีรษะหลายครั้ง และพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอ็นวายยูแลงกอนในนิวยอร์ก ด้วยอาการกระดูกเชิงกรานหัก ขณะนี้อาการทรงตัวแล้ว ส่วนเหตุการณ์ทำร้ายที่เกิดขึ้น ตำรวจอยู่ระหว่างการสอบสวนเป็นคดีอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง
นิวยอร์กโพสต์ รายงานอ้างตำรวจ เปิดเผยว่า ผู้ก่อเหตุได้ตะโกนถ้อยคำเหยียดชาวเอเชียใส่หน้าผู้เสียหายด้วยว่า “นี่ไม่ใช่ที่ของแก”
ภาพจากกล้องวงจรปิด เห็นว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอาคารในบริเวณจุดเกิดเหตุ ได้เห็นเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นโดยตลอด แต่ไม่เข้าไปช่วยเหลือหรือทำอะไรเลย ในทางตรงกันข้าม กลับปิดประตูอาคารใส่อย่างเมินเฉย