ผู้ว่าฯเชียงใหม่ สั่งสอบการจัดงานสาดสี หลังมีภาพใกล้ชิด-ไม่สวมหน้ากาก
หลายคนแสดงความเป็นห่วงการจัดงานสาดสี หรือ โฮลี หรือตรุษอินเดีย บริเวณเทอเรซ พาวิลเลียม ย่านไนน์บาร์ซา ถนนคนเดินจังหวัดเชียงใหม่ว่าเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และเป็นการหย่อนยานมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโควิด-19 หรือไม่
พล.ต.ต.ปชา รัตนพันธ์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ประธานคณะกรรมการจัดงาน แถลงว่า การจัดงานนี้มีการขออนุญาตและทำเอ็มโอยูกับเทศบาลนครเชียงใหม่อย่างถูกต้อง มีการคัดกรองสองชั้น มีเชือกกั้น ไม่ได้จัดกลางถนน จัดพื้นที่เป็นสัดส่วน ไม่มีการถูกเนื้อต้องตัวและเป็นพื้นที่โล่ง ใช้เวลาสั้นๆไม่ถึง 20 นาทีและมีคนร่วมงานประมาณ 50 คน ส่วนภาพที่ถูกเผยแพร่ออกไปว่าไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย เป็นนักแสดงและเป็นช่วงท้ายของงาน
สถานการณ์โควิด-19 ที่ จ.เชียงใหม่ ผ่านมาแล้ว 75 วัน ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ ด้านนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดเข้าไปตรวจสอบการจัดกิจกรรมในครั้งนี้แล้ว เนื่องจากสังคมเป็นห่วงกังวล หากพบว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบจะต้องดำเนินการลงโทษตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อกำหนดรูปแบบแนวทางจัดกิจกรรมสงกรานต์ที่ชัดเจน
แฟ้มภาพ Fine Day At Night Bazaar
กรมควบคุมโรค ย้ำผู้จัดงานต้องกำกับดูแลให้รัดกุม
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึง การจัดกิจกรรมสาดสี จ.เชียงใหม่ ว่าในภาพรวม จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่สีเขียว การใช้ชีวิตของประชาชน ร้านอาหาร สถานศึกษา การจัดกิจกรรมที่รวมคนหมู่มากก็สามารถจัดได้ แต่ต้องจัดรูปแบบนิว นอร์มอล การจัดกิจกรรมรวมคนหลักร้อย จะต้องขออนุญาตส่วนท้องถิ่นที่ดูแลรับผิดชอบ เช่น เทศบาล อำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่หากเป็นกิจกรรมภายในครอบครัว ญาติสนิทคนไม่มาก ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องระมัดระวัง ซึ่งเชื่อว่างานรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่คนที่มางานก็จะรู้จักกัน เวลาติดตามผู้สัมผัสจะไม่ยุ่งยากมากนัก ต่างจากกิจกรรมสาธารณะจะติดตามตัวได้ยาก
จากการตรวจสอบพบว่า การจัดกิจกรรมที่จัดได้ขออนุญาตผู้ที่รับผิดชอบแล้ว เพียงแต่เวลาจัดกิจกรรม อาจมีความหละหลวมของผู้จัด ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปกำกับ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นว่ายังไม่ถึงเทศกาลสงกรานต์เต็มตัว ก็เริ่มมีกิจกรรมเสี่ยงอันตรายในการควบคุมโรค ขอเน้นย้ำผู้ที่เกี่ยวข้องดูกรณีนี้เป็นตัวอย่างและกำกับให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น
กรุงเทพฯ สมุทรสาคร ปทุมฯ จุดแพร่โควิด-19
ส่วนการตรวจสอบพื้นที่อื่นๆ นพ.โอภาส กล่าวว่า พื้นที่ระบาดหลักยังอยู่ในกรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร จ.ปทุมธานี ในพื้นที่กรุงเทพฯ เขตที่มีอัตราป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมสูงสุด 5 อันดับแรก คือ
-เขตบางขุนเทียน 93.0 ต่อประชากรแสนคน
-เขตภาษีเจริญ 89.6 ต่อประชากรแสนคน
-เขตบางแค 77.0 ต่อประชากรแสนคน
-เขตปทุมวัน 41.9 ต่อประชากรแสนคน
-เขตบางรัก 41.5 ต่อประชากรแสนคน
จากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ดูแลตลาด ร้านขายของชำ ตัวแทนชุมชน พบว่า แผงขายอาหารแต่ละชนิดอยู่ปะปนกัน ไม่ได้จัดหมวดหมู่ ลูกค้าและคนส่งของเข้าออกตลาดหลายทาง พนักงานเก็บเงินห้องน้ำ พนักงานตลาด พนักงานรักษาความปลอดภัย ติดเชื้อไปด้วย เพราะเจอคนในตลาดทั้งหมด และบางแผงขายไม่มีการทำความสะอาด ที่สำคัญสุด คือ พฤติกรรมสวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้อง พูดคุยใกล้ชิดกัน ร้องเรียกตะโกน สัมผัสใกล้ชิดกัน ถ่มน้ำลาย บ้วนน้ำหมาก ลูกจ้างอยู่กันเป็นกลุ่ม กรณีนี้ไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ จังหวัดใกล้เคียงด้วย อย่าง จ.ปทุมธานี หรือแม้แต่ตลาดใน จ.นนทบุรี ก็พบลักษณะนี้เช่นกัน
กาฬสินธุ์ พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค สัมผัสกับผู้ป่วยที่ตลาดบางแค
สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ออกประกาศในเพจศูนย์อำนวยการต้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จ.กาฬสินธุ์ ระบุว่า พบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค 1 คน มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 จากพื้นที่ตลาดบางแค กรุงเทพฯ ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ และอยู่ระหว่างรอผลยืนยันภายใน 1-2 วันนี้ โดยมีผู้สัมผัสใกล้ชิดอีกจำนวน 6 คน ได้รับการกักตัวและตรวจหาเชื้อโควิด-19 อยู่ระหว่างรอผลการตรวจหาเชื้อทั้ง 6 คน
รายงานระบุว่า ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค เป็นหญิงวัย 35 ปี เป็นพนักงานขายในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน จ.กาฬสินธุ์
-22 มี.ค.64 เดินทางมาหาเพื่อนที่กรุงเทพฯ เพื่อนทำงานค้าขายในพื้นที่เขตบางแค และได้อาศัยอยู่ห้องพักของเพื่อน
-24 มี.ค.64 เดินทางกลับมาที่ จ.กาฬสินธุ์ โดยขึ้นเครื่องบินออกจากสนามบินสุวรรณภูมิมาลงสนามบินขอนแก่น จากนั้นเดินทางโดยรถตู้โดยสารจากสถานีขนส่งผู้โดยสาร จ.ขอนแก่น มาที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร จ.กาฬสินธุ์และเดินทางกลับบ้านพักใน ต.นาเชือก อ.ยางตลาด โดยรถยนต์ส่วนตัวและเป็นคนขับเอง
-25 มี.ค.64 เริ่มมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย แต่ได้เดินทางไปทำงานตามปกติ
-26 มี.ค. 64 เพื่อนที่ทำงานที่ตลาดบางแค เข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผลการตรวจพบเชื้อโควิด-19
CR:สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์
มหาสารคาม พบผู้ป่วยเพิ่ม 1 คน ตรวจซ้ำครั้งที่ 2 พบเชื้อ
สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่จ.มหาสารคาม วันที่ 28 มี.ค.64
-ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 21 คน
-กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 1 คน
-รักษาหายแล้วรวม 18 คน
รายละเอียดผู้ป่วยรายใหม่ เป็นรายที่ 21 ของการระบาดระลอกใหม่
-หญิง อายุ 53 ปี
-20มี.ค.64 เวลา 13.00 น. เดินทางพร้อมลูกชาย ไปที่สนามบิน จ.ขอนแก่น เพื่อไปรับสามี (ผู้ป่วยยืนยันรายที่ 14 จ.ขอนแก่น) โดยรถยนต์ส่วนตัว เวลา 14.00-14.40 น. แวะรับประทานอาหารที่ร้านอาหารใน ต.กู่ทอง นั่งฝั่งอาคารสร้างใหม่ แยกโต๊ะ หลังจากนั้น เดินทางกลับบ้านพัก หมู่ที่ 5 ต. กู่ทอง อ.เชียงยืน
-21มี.ค.64 เวลา 10.00 น.สามี รู้สึกไม่สบายจึงเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนในจ.ขอนแก่น โดยรถยนต์ส่วนตัว (ในรถไม่สวมหน้ากากอนามัย) ระหว่างเดินทาง ไม่ได้แวะที่ใด เวลา 12.00 น. ลูกชายเดินทางกลับบ้าน และเวลา 20.00 น. ผลตรวจพบว่า สามีติดเชื้อโควิด-19 เป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 14 ของ จ.ขอนแก่น
-22มี.ค.64 ผู้ป่วยตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 เวลา 17.30 น. ลูกชายเดินทางไปรับผู้ป่วยเดินทางกลับบ้านพักในจ.มหาสารคาม
-23-25 มี.ค.64 กักตัวเองที่บ้าน
-26 มี.ค.64 เดินทางไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเชียงยืน โดยรถยนต์ส่วนตัว ตามระบบนัดหมาย และขั้นตอนที่โรงพยาบาลกำหนด
-27 มี.ค.64 ผลการตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 เป็นผู้ป่วยรายที่ 21 ของการระบาดระลอกใหม่
CR:สำนักงานสาธารณสุข จ.มหาสารคาม