อว.ติดตามโครงการยุวชนอาสาแก้ไขปัญหาความยากจนที่จังหวัดกาฬสินธุ์

16 ธันวาคม 2562, 09:02น.


          เมื่อวานนี้ (15 ธ.ค.)  นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องโครงการยุวชนอาสาที่ให้นักศึกษารวมกลุ่มโครงการละ 8-10 คน และนำความรู้หลากหลายสาขาพัฒนาชุมชนในพื้นที่ และประเมินผลการเรียน โดยมีอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นที่ปรึกษา




          ในการเยี่ยมชมโครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการเพิ่มมูลค่าการเลี้ยงกุ้งกามกรามแบบบูรณาการในพื้นที่ บ้านโป่งแค ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ มีนายชัยธวัช เนียมสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์  รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดี มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่และชาวบ้านร่วมให้การต้อนรับ โครงการนี้ เป็นหนึ่งในโครงการยุวชนอาสา ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จำนวน 5 สาขา 4  คณะ ประกอบด้วย คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะบริหารศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาและเรียนรู้


          นายสุวิทย์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีศักยภาพหลายด้านแต่มีปัญหาความยากจนเป็นอันดับต้นของประเทศ ประกอบกับเห็นศักยภาพของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์และนักศึกษาที่น่าจะสามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาความยากจนได้ จึงต้องการดึงพลังของเยาวชน  นิสิต นักศึกษา เอาความรู้ที่เรียนนำมาพัฒนาชุมชน สังคมได้จริง และให้ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านโครงการยุวชนอาสา โดยจะนำร่องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และจะขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียงต่อไป และจะนำกลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเข้าพบนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 มกราคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป


          จากนั้นนายสุวิทย์ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ โดยได้เยี่ยมชมนิทรรศการผ้าไหมแพรวาและผ้าทอมือ การสาธิตการทอผ้าทั้งแบบทอมือและเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์และสินค้าผ้าที่ประยุกต์จากผ้าทอ การออกแบบลวดลายผ้า การฟอกย้อมและผลิตผงสีด้วยวัสดุธรรมชาติ และการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นายสุวิทย์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยต้องทำงานต่อยอดและเชื่อมกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ เพื่อผ้าแพรวาและผ้าทอพื้นเมืองมีความเป็นสากลมากขึ้น ขณะที่การทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาจะเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนในอนาคตเพื่อตอบโจทย์คนในพื้นที่


          ด้าน รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ให้นักศึกษาและอาจารย์ลงพื้นที่โดยใช้พื้นที่จริงในการเรียน เป็นการปฏิวัติการเรียนการสอนให้ลงมาสัมผัสการทำงานจริง โดยให้นักศึกษาและอาจารย์อยู่ในพื้นที่เป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา และประเมินผลการเรียนการสอนจากการทำงาน ใช้ศาสตร์ทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนพร้อมทั้งมาเรียนรู้กับชาวบ้านด้วย  เช่น ปัญหาการเลี้ยงกุ้ง ก็นำนักศึกษาหลากหลายสาขามาช่วยดูเรื่องการเลี้ยง การแก้ไขปัญหาน้ำ การทำการตลาดและการบัญชี เป็นต้น  


          สำหรับโครงการยุวชนอาสาเป็นโครงการที่ให้นักศึกษาหลากหลายสาขารวมกลุ่มกันเพื่อบูรณาการความรู้ในการแก้ไขปัญหาในชุมชน โดยมีอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เป็นที่ปรึกษา โดยให้นักศึกษาลงไปทำงานในพื้นที่จำนวน 1 ภาคการศึกษา และประเมินผลการเรียนการสอนจากการทำงาน โดยมีโครงการที่เข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 84 โครงการ นำร่องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ลงชุมชนจำนวน 83 ตำบล ใน 15 อำเภอ จากทั้งหมด 18 อำเภอ มีมหาวิทยาลัยจำนวน 9 แห่งเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน  วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยจะมีการปฐมนิเทศนักศึกษาและเปิดโครงการอย่างเป็นทางการในวันนี้ (16 ธ.ค.) ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์


....
ข่าวทั้งหมด

X