20ปี อีโมจิ วัฒนธรรมภาษาภาพจากญี่ปุ่นสู่ความนิยมทั่วโลก

24 สิงหาคม 2562, 14:17น.


สำนักข่าวเอ็นเอชเคของญี่ปุ่นรายงานว่า อีโมจิ หรือตัวหนังสือแบบรูปภาพ ได้ถูกนำมาใช้สื่อสารกันผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ครบ 20 ปีแล้วในปีนี้ โดยอีโมจิมีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่นและกลายเป็นการสื่อสารรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมทั่วโลก รวมทั้งมีการเติบโตด้านการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความนิยมในการใช้ภาพสัญลักษณ์ขนาดเล็กที่อยู่บนแป้นพิมพ์โทรศัพท์สื่อความหมายแทนอารมณ์ ความรู้สึก รวมทั้งคำศัพท์ต่างๆ ที่ผู้ใช้งานต้องการเลี่ยงการใช้ภาษาเขียนโดยตรง





องค์การยูนิโค๊ด คอนซอร์เทียม ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหากำไรที่ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากบริษัทเทคโนโลยีการสื่อสารขนาดใหญ่ รวมทั้งแอปเปิลและกูเกิล เปิดเผยว่าปัจจุบันมีสัญลักษณ์อีโมจิทั่วโลกกว่า 3,000 ภาพ ขณะที่เฟสบุ๊กระบุว่าสมาชิกเฟสบุ๊กนิยมใช้อีโมจิในการสื่อสารกันมาก และมีข้อความมากกว่า 900 ล้านข้อความในกล่องข้อความส่วนตัวที่ใช้อีโมจิในการสื่อสารกันเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีตัวอักษรใดๆ อีโมจิชุดแรกจำนวน 176 ภาพได้รับการออกแบบโดยนายชิเกะตะกะ คุริตะ พนักงานบริษัท เอ็นทีที โดโคโม ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น นายคุริตะกล่าวว่าเขาเพียงคิดว่าอีโมจิเหล่านั้นเป็นวิธีการให้ชาวญี่ปุ่นสื่อสารความรู้สึกต่อกันเท่านั้น ไม่ได้คิดว่าจะกลายเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก





ปัจจุบันหลายประเทศมีการพัฒนาอีโมจิเพื่อใช้ในการสื่อสารให้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น เช่น รัฐบาลเยอรมนีได้ทุ่มงบประมาณกว่า 27,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 800,000 บาท เพื่อพัฒนาอีโมจิภาพชุดไส้กรอก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเยอรมนีขึ้นมา จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากและมีผู้ใช้ภาพอีโมจิรูปไส้กรอกมากกว่า 3 ล้านครั้งในปีแรกที่เปิดให้บริการ ขณะที่จีนมีอีโมจิเป็นภาพอักษรจีน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การอวยพรให้มีโชคลาภ และความนิยมในการส่งภาพปะทัดไฟในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมทั้งยังมีการนำไปใช้เมื่อต้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เช่น ภาพเทียนไขที่ใช้แสดงความไว้อาลัยให้กับนักเคลื่อนไหวด้านมนุษยชนชาวจีนที่เสียชีวิต ส่วนชาวอินเดียนิยมใช้ภาพคนไหว้ในการสื่อความหมายเกี่ยวกับการแสดงความเคารพทางศาสนามากกว่าประเทศอื่นๆ

ข่าวทั้งหมด

X