เคที ไขข้อข้องใจ นำสายสื่อสารลงดิน ยังอยู่ระหว่างต่อรองราคา

26 มิถุนายน 2562, 14:13น.


ข้อสงสัยต่อโครงการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินของกรุงเทพมหานคร หรือ กทม.  นายเอกรินทร์ วาสนาส่ง รองกรรมการผู้อำนวยการสายยุทธศาสตร์และพัฒนาเมือง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที กล่าวว่า หลังจากเดือน มกราคมได้สรรหาผู้รับเหมางานโยธา ทั้ง 4 โซน เพื่อออกแบบทางวิศวกรรม โดยมีผู้ยื่นเอกสารทั้งหมด 55 ราย ยื่นข้อเสนอ 8 ราย แต่ผ่านคุณสมบัติและผ่านการคัดเลือกเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 62 จำนวน 3 ราย และพร้อมเดินหน้าโครงการเพื่อให้แล้วเสร็จทันระยะเวลาที่กำหนด 2 ปี



จากนั้น เคทียังได้สรรหาผู้ใช้บริการ สรรหาแหล่งเงินทุน ที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง โดยกระบวนการสรรหาผู้ให้บริการหลัก ได้ดำเนินตามขั้นตอนด้วยความโปร่งใส ไม่ได้มีลักษณะการปกปิด หรือจงใจไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ จนเป็นเหตุให้มีผู้ยื่นข้อเสนอและผ่านเกณฑ์พิจารณาเพียง 1 ราย ที่ยื่นข้อเสนอ คือ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และผ่านเกณฑ์คัดเลือกตามมาตรฐานที่กำหนดเมื่อวันที่ 24 พค. 2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเรื่องราคา ยังไม่ได้ลงนามสัญญาใดๆ





ส่วนกรณี ที่ออกมาระบุว่า ตัวเลขค่าบริการสูงถึง 21,000-27,000 บาทต่อซับดักต่อกิโลเมตรต่อเดือนนั้น นายเอกรินทร์ ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง โดยกรุงเทพธนาคม และผู้ใช้บริการหลัก ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการรายอื่นเกินกว่าอัตราที่กสทช. กำกับและกำหนดได้ ดังนั้นข้อกล่าวหาสูงถึง 3 เท่า จึงไม่เป็นความจริง



ผู้บริหาร เคที ยังยืนยันว่า โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินของกรุงเทพมหานคร เป็นการลงทุนใหม่ คุ้มค่ากว่า และสามารถใช้งานได้ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายคือ 50 ปี เพื่อไม่ให้เกิดการ ขุดๆ กลบๆ อย่างที่เคยผ่านมาอีก โดยกรุงเทพธนาคมเลือกใช้เทคโนโลยี ไมโครดัก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ รองรับการขยายตัวในอนาคต ประหยัดพื้นที่ใต้ฟุตบาท ไม่ได้เป็นโครงการซ้ำซ้อนกับโครงการท่อร้อยสายของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ CAT มีใช้งานอยู่นั้น กทม.ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ยังสามารถให้ใช้งานต่อได้ จึงไม่ถือเป็นการผูกขาด เพียงแต่กทม.จะดำเนินการวางโครงข่ายท่อร้อยสายใหม่ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำซ้ำซ้อน แต่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับโครงข่ายของกทม.ได้ ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ กรุงเทพธนาคม จะเปิดให้ทุกบริษัทสามารถเช่าท่อร้อยสายได้อย่างเสมอภาคในราคาที่เป็นธรรมเหมาะสม และยังเหลือเพียงพอที่จะให้บริการกับผู้ใช้บริการรายอื่นที่จะพึงมีในอนาคตภายใต้การกำหนดราคาของกสทช. และให้กทม.ได้ร่วมใช้ในกิจการของกทม. โดยไม่คิดค่าบริการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน





สำหรับโครงการนี้  เคทีก่อสร้างโครงข่ายเองและลงทุนเองทั้งหมด ต้องการหาผู้ให้บริการที่มีศักยภาพ และไม่ได้ปิดกั้นรายอื่นๆด้วย โดยได้แบ่งความจุออกไปร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ20 จะเปิดไว้รองรับรายอื่นๆ การคิดราคาไม่ได้คิดกำไร แต่เป็นการคิดจากต้นทุนที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดโดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกสทช. จากการศึกษาไว้คาดว่าจะมีผู้ให้บริการจริงไม่เกิน 10 ราย โดย 1 เส้นรองรับได้มากถึง 216 แกน จึงรองรับได้อย่างเพียงพอ



 ผู้สื่อข่าว อรอุมา แคนดา 

ข่าวทั้งหมด

X